คาดปีนี้ออกหุ้นกู้ทะลุ 1 ล้านล้านบาท สมาคมฯไม่ห่วงอสังหาฯ ซ้ำเอเวอร์แกรนด์

HoonSmart.com>>สมาคมตราสารหนี้ฯ แถลง 9 เดือนปี 64 เอกชนแห่ออกหุ้นกู้ 8.17 แสนล้านบาท ช่องทางการจำหน่ายผ่านดิจิทัลสะดวก คาดทั้งปี 64 เกินเป้าที่ตั้งไว้ 9 แสนล้านบาท มีโอกาสทะลุ 1 ล้านล้านบาท บอนด์ยีลด์ 10 ปี ไตรมาส 4 มีโอกาสขึ้นเล็กน้อยจากปัจจุบัน 1.89% สถานการณ์ยืดหนี้ดีขึ้น ไม่ห่วงหุ้นกู้อสังหาฯซ้ำรอยเอเวอร์แกรนด์ ยอดคงค้างเพียง 11% ส่วนใหญ่มีเรทติ้ง ต่างชาติซื้อตราสารหนี้ไทยเพิ่ม มียอดสุทธิ 66,089 ล้านบาท 

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)  เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ตลาดตราสารหนี้ไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าจะยังมีการระบาดของโควิด-19 โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวเพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว มียอดการออกรวมเท่ากับ 817,556 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 8.4 แสนล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการขออนุมญาตเสนอขายจากก.ล.ต.ประมาณ 111,900 ล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด เชื่อว่ามีการต่ออายุอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าปีนี้มีโอกาสทะลุ 1 ล้านล้านบาท และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 9 แสนล้านบาท ในเดือนต.ค.นี้จะออกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท บริษัท TRUE จะออกอีก 3 หมื่นล้านบาทในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทยออกหุ้นกู้เสนอขายต่างประเทศ

กลุ่มธุรกิจที่เสนอขายสูงสุด 5 กลุ่มแรก ได้แก่ พลังงาน 20.6%, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 15.1%, ไฟแนนซ์ 13.6% , พาณิชย์  12.8% และอาหาร 11.8% ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่มีความต้องการใช้เงินจำนวนมาก เช่น บริษัทปตท.(PTT) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ส่วนกลุ่มอาหาร ได้แก่บริษัท ไทยเบฟ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) หุ้นกู้เอกชนมียอดคงค้าง 4.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3.87 ล้านล้านบาท

สำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  ทางสมาคมฯประเมินว่าไม่น่ากังวลว่าจะมีปัญหาเหมือนอสังหาริมทรัพย์ของจีน บริษัทเอเวอร์แกรนท์ เพราะมีหุ้นกู้คงค้างราว 11% ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ หุ้นกู้ประมาณ 75% มีเรทติ้งที่เป็นอินเวสต์เมนต์เกรด ระดับ A ขึ้นไปถึง 50% BBB สัดส่วน 21%บริษัทที่ออกกระจายมีบริษัทขนาดเล็กมากขึ้น

สาเหตุที่เอกชนสนใจออกหุ้นกู้มากขึ้น นอกจากความต้องการใช้เงินขยายการลงทุน และมีความต้องการซื้อมาก พบว่ามีการเสนอขายนักลงทุนทั่วไป (PO) มากขึ้น เพราะต้องการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก รวมถึงการคุ้มครองเงินฝากก็ลดลงเหลือ 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันผู้ออกยังต้องการล็อกต้นทุน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และที่สำคัญผู้จัดจำหน่ายใช้ช่องทางติดต่อเสนอขายตราสารหนี้ผ่านออนไลน์และ Mobile application มากขึ้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนแม้จะมีมาตรการล็อคดาวน์

” หุ้นกู้มีการออกเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม ทั้งที่มีเรทติ้ง และนอนเรท แนวโน้มที่นำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนซื้อ แต่ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ก็ยังสูงเหมือนเดิม ส่วนใหญ่เป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น ส่วนบริษัทที่มีการขอยืดชำระหนี้ในปีนี้มีจำนวนบริษัทเพิ่ม แต่มูลค่าไม่เพิ่มจากปีก่อนมียืดหนี้ 1.4 หมื่นล้านบาท มี 3 บริษัทได้จ่ายคืนได้หมด มีอีก 2-3 บริษัททยอยคืนบางส่วน ส่วนหนึ่งเพราะธุรกิจกลับมาดำเนินงานปกติได้แล้ว เช่นธุรกิจเดินเรือ มีรายได้กลับเข้ามา แบงก์สนับสนุนสินเชื่อ สถานการณ์การปรับลดเครดิตน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว  มีแนวโน้มเชิงบวก อาจจะเห็นการอัพเกรดมากกว่า

ด้านกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 3/2564 นักลงทุนยังคงซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยกว่า 37,579 ล้านบาท แต่กลับมาขายสุทธิค่อนข้างมากในเดือนก.ย. อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังมียอดการซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปีกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ทำให้ยอดการถือครอง ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 915,918 ล้านบาท คิดเป็น 6% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ไทย โดยกว่า 90% เป็นการถือครองในตราสารหนี้ระยะยาว และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 9.4 ปี โดยต่างชาติทยอยซื้อต่อเนื่องตลอดทั้งปี  แม้เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า จาก 30 บาท/เหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 34 บาท  ช่วงแข็งค่าจะเข้าซื้อมากหน่อยเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน มีกำไรจากค่าเงินบาทด้วย

ส่วนแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) อายุ 10 ปี น.ส.ศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดว่าไตรมาส 4 มีโอกาสปรับขึ้นอีกเล็กน้อย เนื่องจากตลาดได้ปรับตัวล่วงหน้าสะท้อนปัจจัยหลักต่างๆ ไปแล้ว ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงขึ้น 0.18% มาอยู่ที่ 0.56% และรุ่นอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้น 0.61%มาอยู่ที่ 1.89% ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับมี.ค.อยู่ที่ระดับ 2.05% แม้จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางในตลาดโลก แต่ส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit spread) ของหุ้นกู้ที่ปรับลดลง ประกอบกับสภาพคล่องในระบบ ทำให้ต้นทุนของผู้ออกภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการออกหุ้นกู้