เดือน ส.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่นนำโดยหุ้นขนาดใหญ่ (U.S. Large Cap) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ทำผลตอบแทนเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 โดยที่ดัชนีไม่ได้มีการปรับฐานในระดับ -5% มาแล้วเป็นระยะเวลานานกว่า 10 เดือน สวนทางกับสถิติย้อนหลังโดยเฉลี่ยที่ 1 ปีจะมีการปรับฐานราว -5% อย่างน้อย 2 ครั้ง ทำให้ความน่าจะเป็นที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะสามารถทำผลตอบแทนเป็นบวกได้อีกในเดือน ก.ย. ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 เริ่มมีความท้าทายมากขึ้น
สหรัฐฯ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) เดือน ส.ค. ออกมาที่ 235,000 ต่ำแหน่ง ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะฟื้นตัว 733,000 ตำแหน่ง สาเหตุจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่รุนแรงขึ้น ทำให้การจ้างงานเป็นได้ได้อย่างยากลำบาก อย่างไรก็ตามเรามองว่าการจ้างงานโดยเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนย้อนหลังยัง มีแนวโน้มฟื้นตัวดีอยู่ คิดเป็นยอดเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 650,000 ตำแหน่งต่อเดือน นอกจากนี้อัตราการว่างงานยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจาก 5.9% ในเดือน มิ.ย. สู่ระดับ 5.2% ในเดือน ส.ค. ดังนั้นการจ้างงานที่ออกมาต่ำกว่าคาดค่อนข้างมากเพียงเดือนเดียว ไม่น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบาย QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปีนี้ได้ เรามองว่าอย่างช้าที่สุด Fed น่าจะเริ่มการทำ QE Tapering ในเดือน ม.ค. ปี 2565
ขณะที่ยุโรปรายงานอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นที่ระดับ 3%YoY ทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี ทำให้ตลาดมองไปที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 9 ก.ย. ว่าธนาคารกลางยุโรป จะพิจารณาปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลงเหมือนกับกรณีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หรือไม่ โดยปัจจุบัน ECB ยังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการซื้อพันธบัตร PEPP ในวงเงินเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวไปจนถึงเดือน มี.ค. ปี 2565