โดย…ณัฏฐะ มหัทธนา
ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ.กรุงไทย
ผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อย (รวมถึงผู้เขียน) อาจจะ “ตกรถ” คันใดคันหนึ่งหรือหลายคันแล้วในปีนี้หลังเวลาผ่านไป 8 เดือนเศษ (ถึงวันที่ 3 ก.ย.) หุ้นสหรัฐ +22.6% (S&P 500) หุ้นยุโรป +17.5% (STOXX 600) หุ้นอินเดีย +23.6% (NIFTY 50) หุ้นเวียดนาม +20.9% (VNINDEX) หรือแม้แต่ “หุ้นไทย” ก็ยังบวกได้สวยๆสองหลัก +12.4% (SET)
4 เดือน (ไม่ถึงดี) ที่เหลืออยู่จะหาอะไรเพิ่มเติมใส่พอร์ตเพื่อตีตื้น? โดยเฉพาะบรรดา #ทีมจีน ผู้นิยมสะสมหุ้นพญามังกรซึ่ง “บาดเจ็บ” มานานหลายเดือนจนถูกทิ้งไว้ก้นบ่อ MSCI China -12.4% และ CSI 300 -8.1%
“ธีมเปิดเมือง” ปัจจัยหลักที่จุดพลุให้ตลาดหุ้นหลายแห่งทยอยฟื้นเป็นขาขึ้นอย่างจริงจังตลอดปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลตรงๆพื้นฐานคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคึกคักหนุนแนวโน้มรายได้และกำไรบริษัทจดทะเบียน “หุ้นไทย” รวมถึงบรรดาเพื่อนบ้านย่าน “อาเซียน” ดูโดดเด่นในระยะนี้ บนความหวังเร่งกระจายวัคซีนโควิดประสิทธิภาพสูง หลังตกเป็นข่าวครึกโครมว่า 5 ใน 6 ชาติเอเชียอาคเนย์ (ซึ่งตลาดหุ้นมีการลงทุนแพร่หลาย) ลงไปกองอยู่ท้ายตาราง Bloomberg Covid Resilience Ranking ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2021 เข้าทำนอง “แย่กว่านี้ไม่ได้แล้ว” และต่อไปคงจะค่อยๆดีขึ้น
ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) ดึงดูดความสนใจของเทรดเดอร์ #สายเปิดเมือง เพราะนอกจากความหวังเรื่องวัคซีนแล้วยังได้ “ลมหนุน” จากสุนทรพจน์ของประธานเฟด Jerome Powell ที่งานสัมมนา Jackson Hole (27 ส.ค.) ซึ่งโดนสื่อบางรายวิจารณ์ว่า Nothingburger แทบไม่มีสาระสำคัญแค่ออกแนวผ่อนคลายเช่นเคย ย้ำเงินเฟ้อสูงชั่วคราว พร้อมเปรยว่าจะเริ่ม tapering ภายในปีนี้เลยก็ได้ถ้าตัวเลขดี แต่ยังไม่เผยรายละเอียดอะไร นักวิเคราะห์บางส่วนจึงขยับคาดการณ์ว่า เฟดน่าจะประกาศลด QE ในเดือน พ.ย. เลื่อนออกไปจากเดิม ก.ย. เพื่อสังเกตผลกระทบของโควิดเดลตา
ทีมกลยุทธ์หุ้นเอเชีย JPMorgan คาดดัชนี MSCI AC Asia ex Japan อาจกลับขึ้นไปจุดสูงสุดเดิมในช่วงที่เหลือของปี ด้วยหลากหลายปัจจัยสนับสนุนซึ่งมีความเป็นไปได้สูง อาทิ โควิดเดลตาระบาดน้อยลง จีนลดความแรงของการปรับปรุงกฎระเบียบใหม่ๆ แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้ามีโอกาสสดใสขึ้นจาก การบริโภค ลงทุน (capex) ขณะสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับต่ำ จีนผ่อนคลาย สหรัฐกระตุ้น รวมถึงความชัดเจนด้านนโยบายการเงินของเฟด มองตลาดหุ้นจีน upside มากสุด (แต่ไม่จำเป็นต้องมาเร็ว) เพราะนักลงทุนกังวลมากไป รองลงมาคือ หุ้นอาเซียน (ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้นจริง)
ใครมีหุ้นจีน/เอเชียเยอะ ตัวหลักๆ KT-ASIAG, KT-CHINA, KT-Ashares นับว่ามี EM พอแล้วก็ถือลงทุนระยะยาว ส่วนกองทุนที่เน้นอาเซียนเช่น KT-ASEAN, KT-CLMVT รวมถึงหุ้นไทย น่าจะยังคงโมเมนตัมขาขึ้นได้ในระยะสั้น-กลาง
ข้อมูลแรงงานสหรัฐชุดใหญ่ ออกมาวันศุกร์ (3 ก.ย.) เผยยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร ส.ค. ต่ำกว่าคาดมาก …แต่มิได้แปลว่าแย่… ตัวเลข non-farm payrolls ก.ค. ปรับปรุงดีขึ้น อัตราว่างงานลด ขณะโควิดเดลตากดดันร้านอาหาร/บาร์และค้าปลีกจ้างคนน้อยลง แต่ภาคบริการธุรกิจและมืออาชีพ (professional and business services) รวมถึงขนส่งและโกดังสินค้ากลับจ้างงานเพิ่ม หนุนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (average hourly earnings) พุ่งแรงกว่าคาด
ประธานเฟด “ผ่อนคลายสุด” และคงไม่มากกว่านี้แล้ว (ต่อไปอาจเข้าสู่โหมดเข้มงวด) เราจึงอยากเติมสินทรัพย์ที่แตกต่างและน่าจะได้รับประโยชน์หากระยะถัดไปข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐออกมาดีจนทำให้เฟดหันมาลด QE เร็วขึ้นโดย “หุ้นญี่ปุ่น” มีโอกาส outperform ในกรณีดังกล่าวเพราะมักชอบยีลด์พันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นและ/หรือดอลลาร์แข็งค่า แถมญี่ปุ่นเป็นตลาดพัฒนาแล้วขนาดใหญ่แห่งเดียวในกลุ่ม G-3 ที่ยังรอ “เปิดเมือง” (สหรัฐ, ยุโรป เปิดนานแล้ว)
Goldman Sachs คาดหุ้นญี่ปุ่น “มา” ไตรมาส 4 ดัชนีหุ้นสหรัฐและยุโรปเดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่แต่ญี่ปุ่นยังล้าหลัง ขาใหญ่วอลล์สตรีทนำเสนอรายงาน (20 ส.ค.) เชื่อ “จุดเปลี่ยน” กำลังมา โดยคาดว่า หุ้นญี่ปุ่นอาจปรับตัวขึ้นตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง (ก.ย.) ถึงสิ้นปี เนื่องจากสถานการณ์โควิดน่าจะคลี่คลายหลังเร่งฉีดวัคซีนหนุนเศรษฐกิจฟื้น ปัจจัยการเมืองจะชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้ช่วงเลือกตั้งปลายปี ขณะหุ้นญี่ปุ่นราคาไม่แพง ต่างชาติถือครองน้อย โกลด์แมนชอบหุ้นขนาดใหญ่ (large cap) ธีมเปิดเมือง (going out) เคลื่อนไหวตามตลาด (high beta)
KTAM Weekly Strategy 30 ส.ค. – 3 ก.ย. ยกระดับมุมมอง “หุ้นญี่ปุ่น” เป็น overweight (เดิม neutral)
กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ พาสซีฟ ฟันด์ (KT-JPFUND) เน้นลงทุนในหน่วยของ iShares Core Nikkei 225 ETF มุ่งบริหารให้ไปในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกับผลตอบแทนของ Nikkei Stock Average (ดัชนีหรือตัวชี้วัด) โดยเน้นลงทุนส่วนใหญ่ในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225
กองทุนเปิดเคแทม เจแปน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-JAPAN) เน้นลงทุนในหน่วยของ Horizon Japanese Smaller Companies Fund (กองทุนหลัก) มุ่งบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเงินทุนระยะยาวโดยลงทุนไม่น้อยกว่า 2/3 ในบริษัทญี่ปุ่นขนาดเล็ก (Smaller Japanese Companies) ซึ่งหมายถึง บริษัทที่มี market cap ต่ำสุด 25% ของตลาดญี่ปุ่น ทั้งนี้ หุ้นขนาดเล็ก (small cap) มีโอกาสโตสูง ตรงกับปัจจัยที่ต้องการลงทุน (pure exposure) เพราะมักทำธุรกิจน้อยประเภท และมีโอกาสควบรวมกิจการ (M&A)
คำเตือน: ความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่คำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน คู่มือการลงทุน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
ติดตามข่าว หุ้นเด่นระหว่างวัน ผ่านช่องทาง Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ