HoonSmart.com>>“ธปท.จับมือสมาคมธนาคารไทย” เพิ่ม 2 มาตรการ ช่วยลูกหนี้อย่างยั่งยืน เน้นหลัก “มองระยะยาว-กว้าง – ตรงจุด – เป็นธรรม” หวังลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือทันการณ์และได้ผลจริง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่สินเชื่อฟื้นฟูล่าสุดปล่อยแล้ว เกือบ 100,000 ล้านบาท
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ธปท.ได้ออกมาตรการเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 อย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก “มองระยะยาว – กว้าง – ตรงจุด – เป็นธรรม” ประกอบด้วย มาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้หล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ได้แก่
1) การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อกว่าคาดและยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งปัจจุบันปล่อยสินเชื่อแล้ว 98,316 ล้านบาท คิดเป็น 32,025 ราย เหลือวงเงินอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ปล่อยสินเชื่อ 11,697 ล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้ 82 ราย
(1.1) ขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่ SMEs ที่เดิมมีวงเงินสินเชื่อต่ำ หรือไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงิน
(1.2) เพิ่มการค้ำประกันและลดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง micro-SMEs และภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการ เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น
ทั้งนี้ สถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท. ตามหลักเกณฑ์ข้างต้นได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2564
2) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อยเป็นการชั่วคราว ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อลดภาระการชำระหนี้ มีผลตั้งแต่ 3 กันยายน 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 โดย
(2.1) ขยายเพดานวงเงินเป็น 2 เท่าของเงินเดือน สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล กรณีผู้มีรายได้ ต่ำกว่า 30,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ผู้กู้สามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่จำกัดจำนวนผู้ให้บริการ
(2.2) คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่ 5% จนถึงสิ้นปี 2565 และ
(2.3) ขยายเพดานวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากรายละไม่เกิน 20,000 บาท เป็น 40,000 บาท และขยายระยะเวลาการชำระคืนจากไม่เกิน 6 เดือน เป็น 12 เดือน
ส่วนมาตรการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาวอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย โดยกำหนดการจ่ายหนี้ ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงมากของลูกหนี้ และทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา รวมทั้งเร่งช่วยลูกหนี้ ให้ได้จำนวนมากและเร็ว โดย ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองที่เกี่ยวข้องตามความเข้มข้นของความช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ข้างต้น ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564
“มาตรการแก้ไขหนี้เดิม และเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย ถูกปรับให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นและสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ เพื่อช่วยลูกหนี้ที่ยังได้รับผลกระทบหนักให้บริหารจัดการสภาพคล่องผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ทั้งนี้ ธปท. จะร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเร่งรัดและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด “นายรณดลกล่าว
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารสมาชิกพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งรายย่อยและ SMEs ตามมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. และขณะนี้เมื่อสถาบันการเงินรับทราบรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ ที่ ธปท.ประกาศออกมาแล้ว สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำทางเลือกการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (Product program) ให้สอดคล้องกับปัญหาและสถานะของลูกหนี้ และติดตามดูแลช่วยเหลือลูกหนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธนาคารยังเป็นกลไกสำคัญและมีกำลังไปช่วยลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ธนาคารได้รีบเตรียมความพร้อมภายในรวมถึงสื่อสารกับพนักงานสาขา ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อธนาคารเพื่อเริ่มเตรียมการในเบื้องต้นก่อน และหวังว่าการแก้ปัญหาและช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้จะทำให้ลูกหนี้กลับมายืนและทำธุรกิจได้ต่อไป
ติดตามข่าว หุ้นเด่นระหว่างวัน ผ่านช่องทาง Line OpenChat : https://line.me/ti/g2/wEbsUcMaP2oP45XhK3vYhQ