HoonSmart.com>>EIC คาดการก่อสร้างภาครัฐปี 64-65 โต 6% ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชน ปี 64 หดตัว 7% ปี 65 โต 0% ผลจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง-มาตรการ Bubble and seal-ต้นทุนเหล็กและแรงงานที่อยู่ในระดับสูง แนะผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีก่อสร้างช่วยเพิ่ม productivity
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) วิเคราะห์ว่า ภาคก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 แม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐจะขยายตัว 17%YTD แต่คำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2021ที่ผ่านมา ความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้าง รวมถึงการดำเนินกิจกรรมก่อสร้างภายใต้มาตรการ Bubble and seal อาจทำให้การก่อสร้างในระยะข้างหน้าล่าช้าออกไป และส่งผลให้มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี มีแนวโน้มชะลอตัวลง
ทั้งนี้ EIC คาดว่า มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2021 จะอยู่ที่ราว 806,000 ล้านบาท (+6%YoY) สำหรับปี 2022 มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 6%YoY จากความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจกต์ ที่ก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเริ่มก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ ทั้งโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง โครงการขยายสนามบิน และโครงการทางถนน
สำหรับการก่อสร้างภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวตามการหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดย EIC คาดว่า มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2021 อยู่ที่ราว 514,000 ล้านบาท (-7%YoY) และในปี 2022 มูลค่า การก่อสร้างภาคเอกชนจะยังมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากยังเผชิญความท้าทายจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวได้ช้า
โดยในปี 2022 ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์รับงานก่อสร้างภาครัฐมากขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวได้ช้าของภาคอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้ง เผชิญภาวะต้นทุนเหล็ก และแรงงานที่อยู่ในระดับสูง โดยราคาเหล็กจีนที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาเหล็กไทยจะยังอยู่ในระดับสูงตามไปด้วย รวมถึงคำสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานออกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยังไม่กลับเข้าพื้นที่ได้ทั้งหมด โดยภาวะขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนแรงงานที่พุ่งสูงขึ้น อาจลากยาวไปถึงปี 2022
ความท้าทายสำคัญสำหรับการเติบโตของภาคก่อสร้างในระยะต่อไป ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นจากในอดีตได้มากนัก นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานพื้นฐานที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคก่อสร้างเผชิญสถานการณ์การไหลออกของแรงงานไปยังภาคธุรกิจอื่น ๆ ประกอบกับสัดส่วนแรงงานอายุน้อยในภาคก่อสร้างที่ค่อย ๆ ลดลงจากเทรนด์การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ท่ามกลางความต้องการใช้แรงงานพื้นฐานอย่างเข้มข้น ทำให้ภาคก่อสร้างยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
EIC มองว่า การนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยเพิ่ม productivity โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่และกลาง อาจขยายการใช้เทคโนโลยีจากที่ใช้เฉพาะ Prefabrication, Modular, BIM และ ERP ไปสู่การใช้เทคโนโลยีตลอด supply chain ตั้งแต่จัดหาวัสดุก่อสร้าง สำรวจพื้นที่ ส่งมอบงาน ไปจนถึงบริการดูแลรักษาระบบ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กอาจเริ่มต้นจากการใช้ BIM และ ERP ก่อน โดยจะสามารถลดการใช้แรงงานพื้นฐาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถ upskill แรงงานพื้นฐานให้ไปทำงานที่ทักษะสูงขึ้น ทั้งงานควบคุมเทคโนโลยี และงานที่ใช้ฝีมือ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับ productivity แรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของผู้ประกอบการในระยะยาว