HoonSmart.com>> บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะเสริมทัพพอร์ตด้วยหุ้นโครงสร้างพื้นฐานกับกองทุน SCBGIF และ SCBRMGIF ลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน พร้อมเอาชนะอัตราเงินเฟ้อ
นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกที่มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่กระจายวัคซีนครอบคลุมประชากรในระดับสูง ซึ่งคาดว่าในระยะถัดไปจะยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้สามารถขยายตัวได้เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แนะนำกองทุนสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูงและต้องการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก รวมถึงนักลงทุนเพื่อต้องการสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งนักลงทุนสามารถซื้อได้ในทุกช่องทางรวมถึงผู้สนับสนุนการขายทุกราย ได้แก่
กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (SCB Global Infrastructure Equity Fund : SCBGIF) เป็นกองทุนประเภท Active เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว ได้แก่ DWS Invest Global Infrastructure (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) IDH (P) ในสกุลเงินยูโร บริหารงานภายใต้ความดูแลของ DWS Investment GmbH มีนโยบายลงทุนในหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก อย่างน้อย 70% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน
กองทุนหลักจะลงทุนในหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ที่ลักษณะรายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มการปรับตัวไปกับเงินเฟ้อ จึงเสมือนเป็นการป้องกันเงินเฟ้อให้กับเงินลงทุน สำหรับโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่ลงทุนนั้นจะเป็นสินทรัพย์หรือการให้บริการที่เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการลงทุนที่มีการควบคุมหรือการผูกขาดทั้งจากภาคเศรษฐกิจ เช่น การขนส่ง สาธารณูปโภค พลังงาน คลังสินค้า โทรคมนาคม และภาคเอกชน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกทางสุขภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกทางการพิจารณาคดี เป็นต้น ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ตามความเหมาะสมสำหรับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการลงทุน
สำหรับกองทุน SCBGIF เป็นกองทุนที่ติดอันดับจากมอร์นิ่งสตาร์ในทุก Share Class ทั้งยังเป็นกองทุนที่สามารถทยอยลงทุนได้ในทุกช่วงสภาวะของตลาด และเหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากจะมีสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นผสมอยู่แต่มีโอกาสการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาวสูงกว่า โดยบริษัทฯ ได้เปิดให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนถึง 3 Share Class ได้แก่ (1) SCBGIF – ชนิดรับซื้อคืนอัตโนมัติ มีกำหนดรับซื้อคืนไม่เกินปีละ 2 ครั้ง (2) SCBGIFP – ชนิดผู้ลงทุนกลุ่ม/บุคคล โดยทั้ง SCBGIF และ SCBGIFP จัดเป็นกองทุน 4 ดาว ประเภท Thailand Fund Global Infrastructure ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2564) และ (3) SCBRMGIF – ชนิดกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Global Infrastructure ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2564)
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่การกระจายวัคซีนครอบคลุมประชากรในระดับสูง สำหรับในระยะถัดไปคาดว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก จะยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ยังคงสามารถขยายตัวได้เหนือกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ประกอบกับความเสี่ยงจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กลายพันธุ์อย่างเดลต้า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก รวมถึงการผ่านร่างงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 จะเป็นปัจจัยหนุนเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยโลกจะทรงตัวในระดับต่ำต่อไป จากการคาดการณ์ของคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2023 ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่นยังคงอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง
“อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตา คือ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจากรายงานของ JP Morgan พบว่าในเดือนมิ.ย. ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกกว่า 39.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 90% ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งโดยปกติผลประกอบการของกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกจะสามารถปรับขึ้นได้ตามอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาได้แก่ ตราสารหนี้ระยะยาวที่อาจมีความผันผวนมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ และมาตรการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก ผันผวนสูงขึ้นได้เช่นกัน” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว