HoonSmart.com>> “เอเอ็มอาร์ เอเซีย” หวังเพิ่มงานใหม่ในปี 64 อีก 2.5 พันล้านบาท ในไตรมาส 3 มีงานรอเซ็นสัญญา 527 ล้านบาท ดัน Backlog สิ้นไตรมาส 3 แตะ 2 พันล้านบาท คาดรายได้ปีนี้ทรงตัว กำไรโตตามแผน จ่อขยายธุรกิจชาร์จรถจักยานยนต์ไฟฟ้าไปต่างประเทศปี 65 ส่วนบริการสร้างและบริการรถไฟฟ้าสายรอง คาดรู้ผลชัดเจนภายในปีนี้
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอราคา เพื่อเข้าประมูลงานใหม่มูลค่างานรวม 2,542 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานโครงการและวางระบบประมาณ 2,439 ล้านบาท โดยยังมีโครงการอื่นๆที่มีโอกาสเพิ่ม อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายส้ม และสีม่วงใต้ ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 รวมถึงงานระบบขนส่งหัวเมืองหลัก
ในไตรมาส 3 โครงการที่รอลงนามสัญญา มูลค่า 527 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานคมนาคมและระบบ ICT คาดว่าจะบันทึกเป็นยอดที่รอรับรู้ (Backlog) ได้ในช่วงไตรมาสนี้ รวมถึงมีงานที่เซ็นสัญญาไปแล้วมูลค่า 247 ล้านบาท ประกอบกับ Backlog ณ สิ้นไตรมาส 2 อยู่ที่ 1,250 ล้านบาท รวมยอด Backlog ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ต่อเนื่องตามระยะเวลาของโครงการ
ส่วนทิศทางผลประกอบการในปี 2564 คาดว่ารายได้จะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2,584 ล้านบาท เนื่องจากปีก่อนมียอดรับรู้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสีทองช่วงปลายโครงการ แต่ด้วยกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ อย่างมีประสิทธิ ทำให้แนวโน้มกำไรสุทธิยังเติบโตตามแผน
สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทคาดว่าในปีนี้บริษัทจะชะลอการลงทุนไปก่อน เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในปี 2565 คาดว่าจะเริ่มขยายตลาด โดยการนำธุรกิจให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ส่วนผลกระทบโควิด-19 ในประเทศก็มีผลกระทบจากการเลื่อนประมูล หรือเลื่อนเซ็นสัญญางานใหม่บ้าง รวมถึงการงดการก่อสร้าง แต่ไม่ได้มีผลกระทบนัยสำคัญ
นายมารุตกล่าวถึงแผนการพัฒนาธุรกิจในอนาคตว่ามีแผนที่จะสร้างและให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายรอง บริเวณพื้นที่รังสิต เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการเชื่อมโยงจากรถไฟฟ้าสายสีแดงไปยังฟิวเจอร์พาร์ครังสิต คาดว่ารู้ความชัดเจนของแผนในปีนี้ ส่วนการให้บริการเคเบิลคาร์เพื่อการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีแผนเรียบร้อยแล้วกับเมืองท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีการลงทุนแบบแบ่งรายได้จากการลดค่าไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา และการให้บริการสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันเริ่มนำเสนอลูกค้าเรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายปี 2564 นี้ จะเห็นอุปกรณ์ขอบริษัทตั้งอยู่บนถนน
“เรามีแผนการเติบโตอย่างชัดเจน งานโครงสร้างคมนาคมและ ICT ในประเทศยังมีอยู่ค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสในการลงทุนอีกเยอะ อีกทั้งช่วงปลายปีนี้เราหวังจะได้งานซ่อมบำรุงเข้ามา ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ หรือ งานซ่อมบำรุงและรักษาอุปกรณ์ ให้มีสัดส่วน 20% ของรายได้รวม ภายในปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-7% นอกจากนี้การมีหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ย IBD/E ในระดับที่ต่ำ 0.05 เท่า ทำให้มีโอกาสในการขยายการลงทุนอยู่อีกมาก” นายมารุต กล่าว
ด้านผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้ 727 ล้านบาท ลดลง 22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปีก่อนมีงานโครงการที่อยู่ในช่วงปลายทำให้รับรู้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งกลยุทธ์บริษัทยังเดินหน้าที่จะควบคุมต้นทุนต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 205 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 28.2% ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 79 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรกำไรสุทธิอยู่ที่ 10.9%