TTB ย้ำกลยุทธ์ไม่เร่งโต เปิดกำไร 2.5พันลบ. ลด 8.9% เทียบQ1/64

HoonSmart.com>>TTB ส่งสัญญาณโควิดยังกระทบเศรษฐกิจถึงครึ่งปีหลัง ย้ำกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโต ยอมรับหนี้ NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 2,534 ล้านบาท ชะลอลง 8.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2564 มีกำไรสุทธิ 2,534 ล้านบาท ชะลอลง 8.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 ธนาคารยังเน้นกลยุทธ์ทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อรักษาและคงความแข็งแกร่งทางการเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการเติบโตเมื่อเศรษฐกิจเอื้ออำนวย อย่างไรก็ดี แม้มีแรงกดดันด้านรายได้ แต่เป้าหมายหลักด้านอื่น ๆ ธนาคารยังคงทำได้ดีตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการ โดยเฉพาะจากด้านงบดุล และด้านต้นทุน การมีวินัยด้านค่าใช้จ่าย และการดูแลคุณภาพสินทรัพย์

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลัง มองว่าสถานการณ์โควิด-19 จะยังมีผลกระทบกับเศรษฐกิจต่อไป ดังนั้น ภาพรวมเชิงกลยุทธ์จึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ที่เพิ่มเติมเข้ามาคือการดำเนินการตามแผนการรับรู้ผลประโยชน์จากการรวมกิจการด้านรายได้ (Revenue synergy) ภายหลังการรวมธนาคาร ผ่านการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ในด้านค่าใช้จ่ายนั้น จะยังมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการรวมกิจการเหลืออยู่บางรายการในช่วงครึ่งปีหลัง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับแผนการดูแลพนักงานในช่วงโควิด-19 ทำให้อัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้จะยังอยู่ใกล้กับกรอบด้านบนของเป้าหมายธนาคารที่ 47-49%

ในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ยังเน้นการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่เอื้อให้ธนาคารสามารถช่วยเหลือลูกค้าและดูแลคุณภาพสินทรัพย์ได้ดียิ่งขึ้น โดยนับตั้งแต่การระบาดในปีที่แล้ว ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปมากกว่า 7.5 แสนราย ปัจจุบันยอดสินเชื่อที่อยู่ภายใต้โปรแกรมความช่วยเหลือมีสัดส่วนประมาณ 14% ของสินเชื่อรวม

ภายใต้โปรแกรมให้ความช่วยเหลือ การปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสภาพคล่องที่เปลี่ยนไปของลูกค้าช่วยให้ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ลดการผิดนัดชำระหนี้ และชะลอการเกิดหนี้เสียใหม่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแก้หนี้เสียที่มีอยู่เดิม เช่น การขาย ทำได้ช้าลงเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์ปกติ ดังนั้น โดยรวมแล้วยอดหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/2564  ธนาคารมียอดหนี้เสียอยู่ที่ 43,543 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 43,400 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อชะลอลง ทำให้สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมขยับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.89% ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมาย