HoonSmart.com>> หลายประเทศในเอเชียประกาศล็อกดาวน์ รวมถึงประเทศไทยที่มีการออกมาตรการคุมเข้มโควิดระบาด 10 จังหวัด จำกัดการเดินทาง 14 วัน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และการลงทุนในหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในบ้านเรายังมีปัจจัยลบที่นักลงทุนจะต้องระวัง และทำการบ้านอย่างหนักหน่วง ในเรื่องสภาพคล่องของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพราะเริ่มเห็นปรากฎการณ์ การเพิ่มทุนจดทะเบียน การขายหุ้นในบริษัทลูกรวมถึงเงินลงทุนมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเฉพาะตัวอย่างรุนแรงเหมือนในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
บริษัทในตลาดหุ้นหมุนเงินมือเป็นระวิงมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา เมื่อเริ่มเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบเต็มๆ บางบริษัท มองเป็นโอกาสในการปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อรองรับกับโลกใบใหม่ และคาดว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้นในปี 2564 หลังจากดิ่งลงแรงถึง-6.3% เมื่อปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์กลับพลิกผัน เกิดวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากกว่าสองครั้งที่ผ่านมา และขณะนี้ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ในภาวะที่บริษัทมีรายได้หดตัว หลายธุรกิจยังคงขาดทุนหนักมาจนถึงทุกวันนี้ แต่มีหนี้ที่จะครบกำหนดต้องชำระ ทางออกจึงมีไม่มากนัก ต้องเติมสภาพคล่องเป็นการด่วน
การเลือกวิธีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ในสถานการณ์ปกติ จำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นฉุดกำไรต่อหุ้นโดยตรง แต่ในภาวะวิกฤตโควิด ธุรกิจเดินหน้าไม่ปกติ หุ้นจะถูกกดดันแรงมากขึ้น เพราะผู้บริหารจะต้องพิสูจน์ฝีมือ และสร้างความเชื่อมั่นในการนำเงินไปต่อยอดธุรกิจให้เจริญเติบโตได้มากกว่าปริมาณหุ้นที่เพิ่มขึ้น
บริษัทบ้านปู (BANPU) ประกาศเพิ่มทุนอีก 1 เท่าตัว จำนวน 5,074,581,516 หุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และแจกฟรีวอร์แรนต์ถึง 3 ชุด BANPU-W4,W5,W6 เพื่อต้องการระดมเงินสูงกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท หลังจากอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E) มีความเสี่ยงขยับใกล้อัตราหนี้สินที่สัญญาเงินกู้กำหนดที่ 1.75 เท่า บริษัทไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาขยายธุรกิจได้อีกต่อไป จึงต้องกดลงมาเหลือต่ำกว่า 1 เท่า เพื่อเดินหน้าโมเดลธุรกิจใหม่ให้ถึงเป้าหมายในปี 2568 ธุรกิจพลังงานสะอาดมีสัดส่วนมากกว่า 50% แทนธุรกิจถ่านหิน บริษัททุ่มลงทุนพลังงานหมุนเวียน และศึกษาลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ พร้อมออกหุ้นกู้อีก 3 ชุด วงเงินรวม 7,000-10,000 ล้านบาทใช้ชำระหนี้หมดอายุและขยายการลงทุน จะต้องติดตามว่าบริษัทบ้านปูจะสามารถพลิกฟื้นการขาดทุนในปี 2562-2563 มาเป็นกำไรสุทธิในปีนี้ได้หรือไม่ ภาพการเติบโตในระยะยาวจะสำเร็จได้ตามสัญญาแค่ไหน
ส่วนบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่สร้างความฮือฮา ตัดขายหุ้น บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) ออกไปทั้งหมด 30.36% ในราคาทั้งสิ้น 7,765.90 ล้านบาทให้กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่อง สร้างกำไรพิเศษในระยะสั้น แต่อนาคตดูไม่สดใส กำไรที่เคยได้รับจาก SF ไตรมาสละ 100 ล้านบาทหายไป
“บริษัทมีกำไรมานาน แต่ปี 2563 ขาดทุนมากถึง -527.49 ล้านบาท และไตรมาสแรกปีนี้ ยังคงขาดทุน-119.98 ล้านบาทท่ามกลางธุรกิจหลัก โรงภาพยนตร์ไม่เหมือนเดิม รายได้ค่าเช่า ก็ต้องลดให้กับคู่ค้า โควิดยังคงอยู่อีกนาน เมเจอร์ฯจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร นักวิเคราะห์หลายรายคาดว่าปีนี้จะพลิกมีกำไร จะทำได้หรือไม่ อาจจะต้องมีการปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายลง ”
ในเวลานี้ สภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจ ล่าสุด ห้างสรรพสินค้าประกาศปิดให้บริการชั่วคราวในบางสาขา หรือในบางส่วน เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. เป็นต้นไป อย่างน้อย 14 วัน ไทยแอร์เอเชียประกาศหยุดให้บริการเส้นทางบินภายในประเทศชั่วคราว 12-31 ก.ค.นี้ และอีกหลายธุรกิจจะต้องลดหรือหยุดการดำเนินงาน ทำให้รายได้หายวับ ขณะที่รายจ่ายลดลงอีกไม่ได้มากนัก จะดิ้นหาสภาพคล่องมาจากที่ไหนดี… การเพิ่มทุน ก็ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะทำได้ หรือหากจำเป็นต้องเสนอขายหุ้นต้องยอมลดราคาลงต่ำๆ แถมของเยอะแยะ กดดันราคาหุ้นในตลาดให้ทรุดลงไปอีก ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนต้องระวังตัวให้ดี