HoonSmart.com>>ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองมีเสถียรภาพ ภาคการคลังสาธารณะมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อมั่นบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้ได้ ภาคการเงินต่างประเทศยังคงมีความเข้มแข็ง สนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด ธรรมาภิบาล รายได้เฉลี่ยต่อหัวหนี้ครัวเรือน ความเสี่ยงทางการเมือง โครงสร้างประชากรสูงอายุที่จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศในระยะปานกลาง
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับมีเสถียรภาพ โดยมองภาคการคลังสาธารณะมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ เดือนเม.ย. 2564 มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างยาวคือ 9.5 ปี และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่า 98% ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (BBB peers) เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ฮังการี บัลกาเรีย รัสเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่นอยู่ที่ 68.8%
ฟิทช์ฯคาดว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP ของประเทศไทยในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.7% ต่อ GDP จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการมีกฎหมายการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันที่ 59.4%
อย่างไรก็ดีฟิทช์ฯ เชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 จะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจในปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.2% เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
ขณะเดียวกันภาคการเงินต่างประเทศ ยังคงมีความเข้มแข็ง โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 10.8 เดือน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 เดือน นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลที่ 0.5% ต่อ GDP และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุมประชากรกว่า 70% ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2564 และแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยจะเริ่มจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket Sandbox) ภายในเดือนตุลาคม 2564
สำหรับประเด็นที่ฟิทช์ ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ธรรมาภิบาล รายได้เฉลี่ยต่อหัวหนี้ครัวเรือน และความเสี่ยงทางการเมือง รวมทั้งโครงสร้างประชากรสูงอายุที่จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศในระยะปานกลาง