HoonSmart.com>>TCMC ปิดไตรมาส 1/64 กวาดรายได้ 1.8 พันล้านบาท ส่งสัญญาณฟื้นตัวจากตัวเลขขาดทุนสุทธิลดเหลือ 15.29 ล้านบาท ล่าสุด ปิดดีลซื้อกิจการค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์สัญชาติอังกฤษ รุกตลาดใหม่ รองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นางสาว ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TCMC) เปิดเผยผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในไตรมาสแรกของปี 2564 มีรายได้จากการขายและบริการ 1,838.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,630.39 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.78 และมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 15.29 ล้านบาท ทำได้ดีกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 26.47 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19
“สำหรับผลดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2564 โรคระบาดโควิด-19 ยังคงมีผลกระทบต่อกิจการของบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุปูพื้น จากการที่ลูกค้าหลักของเราอยู่ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ (hospitality) ยังคงได้รับผลกระทบและอาจยังไม่ฟื้นตัวได้ในเร็ววันนี้ แต่กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ เริ่มมีทิศทางดีขึ้น ตามแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และในส่วนของกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เราได้ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้นในทุก ๆ ด้าน และการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจ ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราจะมีความพร้อมและกลับมาอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นางสาวปิยพร กล่าว
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2564 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจากแต่ละกลุ่มธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง โดยรายได้จากการขายและบริการของ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ลีฟวิ่ง ได้เติบโตขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญทำให้กลายเป็นรายได้หลัก คิดเป็นร้อยละ 71.33 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.71 กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ฟลอร์ริ่ง มีสัดส่วนรายได้จากการขายและบริการเป็นลำดับที่สอง อยู่ที่ร้อยละ 16.57 ลดลงร้อยละ 12.02 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจ รวมถึงการได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19
ในขณะที่ กลุ่มธุรกิจ ทีซีเอ็ม ออโตโมทีฟ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 12.10 ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์มีปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทยและนโยบายภาครัฐในการสนับสนุนอุตสาหกรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนปี 2564 นี้ บริษัทมองว่าเศรษฐกิจในประเทศอาจจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่สำหรับต่างประเทศ ตลาดมีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งบริษัทได้ปรับองค์กรให้มีลักษณะกระชับและยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น มีการนำระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ ในขณะเดียวกัน ในด้านกลยุทธ์บริษัทได้แสวงหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจใหม่ที่จะช่วยเสริมธุรกิจที่มีอยู่เดิม รวมถึงการขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ เพื่อปิดโอกาสการเกิดความเสี่ยงหรือลดผลกระทบจากความเสี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โควิด-19 จึงเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนตัวเองและพัฒนาปรับปรุงตั้งแต่นโยบายจนถึงการปฏิบัติ เพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งในระยะยาว