HoonSmart.com>>EIC ระบุธุรกิจถุงมือยางปีนี้ยังเติบโตดี เตือนปี2565มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัว ตามความต้องการใช้ที่ลดลงจากการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิคที่ดีขึ้น ระบุการบริหารต้นทุนและกำหนดราคาขายเป็นความท้าทายที่สำคัญ
Economic Intelligence Center(EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เกี่ยวกับธุรกิจถุงมือยางของผู้ประกอบการไทยโดยระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาคทั่วโลกในปัจจุบัน จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี2021 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทยและมาเลเซีย โดยEICมองว่าในปี 2021จะยังคงเป็นตลาดของผู้ประกอบการถุงมือยาง (Seller’s market)ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอย่างน้ำยางข้น แต่ตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางในปริมาณมาก ทำให้ผู้ประกอบการยังสามารถปรับขึ้นราคาขายถุงมือยางและรักษาอัตรากำไรไว้ได้
สำหรับในปี2022เป็นต้นไป น่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากความต้องการใช้ถุงมือยางสำหรับตรวจหาผู้ติดเชื้อและรักษาผู้ป่วย COVID-19 ไปสู่การใช้ถุงมือยางสำหรับฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งแม้จะยังคงมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากอยู่แต่การฉีดวัคซีนป้องกันจะเป็นการใช้ถุงมือยาง 2 คู่/ผู้ได้รับวัคซีน 1 คน ขณะที่การใช้ถุงมือยางสำหรับรักษาผู้ป่วย COVID-19 จะต้องใช้อย่างต่อเนื่องและยืดเยื้อมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางโลกในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี2020และ2021 และอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเผชิญภาวะกำลังการผลิตถุงมือยางสูงเกินความต้องการมาก
สำหรับในระยะต่อไปการบริหารจัดการต้นทุนด้านวัตถุดิบ และราคาขายถุงมือยางถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่นและยางแท่งเพื่อผลิตยางรถยนต์มากขึ้น และอาจส่งผลให้มีการขาดแคลนน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยาง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่การปรับราคาขายถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำได้ยากมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการถุงมือยางไทยและมาเลเซียในปัจจุบัน
การลงทุนหรือการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมากเกินไป หากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยผู้ประกอบการถุงมือยางอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตถุงมือยางสำหรับภาคอุตสาหกรรม และถุงมือยางสำหรับครัวเรือน รวมถึงการพัฒนาคุณสมบัติถุงมือยางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้เฉพาะทางมากยิ่งขึ้น ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถุงมือยางได้
นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs)ที่ประเทศคู่ค้าอาจหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า เช่น สวัสดิการแรงงาน มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้ว ก็เป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนของไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลดอุปสรรคด้านการค้าในอนาคต