HoonSmart.com>> นักลงทุนเก็งกำไรหุ้น TOG ราคาซิลลิ่ง 29.35% ขานรับกำไรไตรมาส 1/64 ทะยาน 152% ธุรกิจเริ่มฟื้นตัว ออเดอร์พุ่ง แนวโน้มยอดขายปีนี้อยู่ในทิศทางปรับตัวดีขึ้น โบรกฯ ปรับเป้าราคาใหม่ 9 บาท หลังกำไรดีกว่าคาดมาก
หุ้น TOG (ไทยออพติคอล กรุ๊ป) ราคาซิลลิ่งตั้งแต่เปิดตลาดราคา 5.95 บาท แม้จะมีแรงขายกดราคาย่อต่ำสุด 5.70 บาท แต่ก็ขึ้นปิดภาคเช้าที่ราคา 5.95 บาท เพิ่มขึ้น 1.35 บาท หรือ +29.35% มูลค่าการซื้อขาย 94.29 ล้านบาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์เคทีบีเอสที แนะนำ ซื้อ TOG ปรับเป้าขึ้นเป็น 9.00 บาท หลังผลงานไตรมาส 1/2564 ดีกว่าคาดมากและแนวโน้มไตรมาส 2/2564 ฟื้นตัวดีต่อเนื่องเมื่อเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน
นายธรณ์ ประจักษ์ธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป (TOG) เปิดเผยผลการดำเนินการประจำไตรมาส 1 ของปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 28% โดยผลกำไรสุทธิ 96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 152% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการขายและต้นทุนที่ลดลง
ภาพรวมธุรกิจในไตรมาสแรก ปี2564 มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันในปีก่อน บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้าหลักทั้งในอเมริกา เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนส์ และยุโรป กลุ่มประเทศที่ฟิ้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สืบเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับประชากรเพิ่มเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับความคืบหน้าของบริษัทย่อยฯ บริษัท ทีโอจี ยุโรป (TOG EUROPE SP Z O.O.) ที่ได้มีการทดสอบระบบการจัดการคำสั่งซื้อส่งมอบและระบบคลังสินค้า มีแผนเริ่มการจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการในไตรมาสที่ 2 และคาดว่าจะเริ่มเห็นผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ในด้านบริษัท ทีโอจี ยูเอสเอ ไอเอ็นซี (TOG USA Inc.) ยังคงมีแนวโน้มธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสามารถทำยอดขายเติบโตได้ดีกว่าปีที่แล้ว
นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้มีการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น อีกทั้งยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ยังต้องรอการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ถึงแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่บริษัทเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการขยายตัวของตลาดเลนส์แว่นตา ทั้งในอเมริกา เอเชียแปซีฟิค และยุโรป ยังคงมีแนวโน้มความต้องการใช้เลนส์แว่นตาเพิ่มขึ้นด้วยเหตุจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ผู้คนต้องลดการเดินทาง ใช้ชีวิตติดบ้านมากขึ้น กิจกรรมและกิจวัตรประจำวันมีแนวโน้มใช้เวลาบนหน้าจอสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาสายตา จากการใช้สายตาบนหน้าจออุปกรณ์ดิจิตอลเป็นเวลายาวนานขึ้น เช่น อาการตาอ่อนล้า ปวดตา ตาพร่า และอื่นๆ เลนส์แก้ปัญหาสายตายังคงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสายตาเหล่านี้ได้