ดาวโจนส์ปิดลบ 61 จุด สวนทาง S&P 500 แตะออลไทม์ไฮ

HoonSmart.com>> ดาวโจนส์ปิดลบ 61 จุด แรงขายหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคนำ สวทางดัชนี S&P 500 แตะออลไทม์ไฮ นักลงทุนจับตาประชุมเฟด 27-28 เม.ย.นี้ ด้านตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 26 เมษายน 2564 ปิดที่ 33,981.57 จุด ลดลง 61.92 จุด หรือ 0.18% จากการลดลงของหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ลดลงกว่า 1% นำโดยหุ้นพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล หุ้นวอลมาร์ตและหุ้นโคคา โคล่าหลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นทำให้กังวลต่อเงินเฟ้อ

แต่ ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนำโดยเทสลาก่อนการรายงานผลประกอบการบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่จะเริ่มในสัปดาห์นี้

ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,187.62 จุด เพิ่มขึ้น 7.45 จุด, +0.18%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,138.78 จุด เพิ่มขึ้น 121.97 จุด, +0.87%

หุ้นเทสลาเพิ่มขึ้น 1.21% จากนักวิเคราะห์คาดว่ารายได้ไตรมาสแรกจะเพิ่มขึ้น เพราะส่งมอบรถมากเป็นประวัติการณ์

หุ้นพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิลลดลง 2.02% หุ้นวอลมาร์ตลดลง 1.43% และหุ้นโคคา โคล่าลดลง 1.49%

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ข้าวโพดปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ส่วน Futures ทองแดง แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี

สินค้าโภคภัณฑ์มีสัดส่วนใหญ่ในค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

นักวิเคราะห์จากแบงก์ออฟอเมริกา ระบุว่า ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว หุ้นโบอิ้ง หุ้นฟอร์ด และหุ้นแคทเธอพิลลาร์จะเจอแรงกดดันด้านต้นทุน จากราคาวัสดุและราคาขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ วัตถุดิบ ค่าขนส่ง แรงงานเป็นปัจจัยหลักต่อเงินเฟ้อ และหลายบริษัทมีแผนที่จะปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อถ่ายต้นทุนไปยังผู้บริโภค

ด้านหุ้นแอปเปิล บวก 0.30% หุ้นเฟซบุ๊ก ปรับตัวขึ้น 0.63% หุ้นแอมะซอน เพิ่มขึ้น 2.04% หุ้นอัลฟาเบท เพิ่มขึ้น 0.43%

นักลงทุนคาดหวังผลการดำเนินงานที่ดีจากกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสลดลง

ในช่วงวันอังคารถึงวันพฤหัสบดีนี้บริษัทในสัดส่วนรวมกัน 40% ของมูลค่าตลาดใต้ดัชนี S&P 500 ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟต์ อัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊กจะรายงานผลการดำเนินงาน

ในบรรดา 124 ใต้ดัชนี S&P 500 ที่รายงานผลการดำเนินงานไปแล้วนั้น 85.5% มีผลการดเนินงานดีกว่าคาด ทำให้ Refinitiv IBES คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาสแรกจะเติบโต 34.3%

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลาง (เฟด) ในวันที่ 27-28 เมษายน เพื่อจับสัญญาน ตลาดแรงงานจะมีผลให้ปรับการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับใกล้ 0% และยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) 120พันล้านดอลลารต่อเดือนหรือไม่

กระทรวงพาณิชย์รายงาน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมีนาคม เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมี.ค. หลังจากลดลง 0.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต่ำกว่าการเพิ่มขึ้น 2.2% ที่นักวิเคราะห์คาด

นอกจากนี้ยังเกาะติดการรายงานข้อมูล GDP ไตรมาสแรก

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยกลุ่มธนาคารที่เพิ่มขึ้น 2% ท่ามกลางการเกาะติดการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้ง จับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 27-28 เมษายน

ตลาดได้รับแรงหนุนจากการที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปส่งสัญญานจะอนุญาตให้ชาวสหรัฐที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าเพื่อการท่องเที่ยวได้ในหน้าร้อนนี้ และส่งผลให้กลุ่มเดินทางและสันทนาการปรับตัวเพิ่มขึ้น

หุ้นไอเอจี บริษัทแม่ของบริติชแอร์เวย์ เพิ่มขึ้น 4.20% หุ้นโรลลส์รอยซ์เพิ่มขึ้น 5.78% หุ้นไรอันแอร์เพิ่มขึ้น 2.24% หุ้นลุฟท์ฮันซ่าเพิ่มขึ้น 3.88% หุ้นแอร์ฟรานซ์เพิ่มขึ้น 1.59%

สถาบัน Ifo รายงานผลสำรวจ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายนเยอรมนีเพิ่มขึ้นมาที่ 99.5 แต่ต่ำกว่า 101.3 ที่คาด

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 440.20 จุด เพิ่มขึ้น 1.16 จุด, +0.26%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,963.12 จุด เพิ่มขึ้น 24.56 จุด, +0.35%

ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,275.52 จุด เพิ่มขึ้น 17.58 จุด, +0.28%

ดัชนี DAX ปิดที่ ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,296.34 จุด เพิ่มขึ้น 16.72 จุด, +0.11%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 23 เซนต์ ปิดที่ 61.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 46 เซนต์ ปิดที่ 65.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
 
 
อ่านข่าว

ตลาดหุ้นโตเกียว-เอเชียเช้านี้ร่วง