สภาผู้ส่งออกทางเรือ คาดส่งออกปีนี้มีโอกาสเติบโต 9% ดีกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 8% เดือนมิ.ย.เติบโตต่อเนื่อง 8.2% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐขยายตัวสูงสุดในประวัติการณ์ ได้อานิสงส์สงครามการค้า
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออก คาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโต 8-9% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (บวก/ลบ 0.5) บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากก่อนหน้านี้ประมารการเติบโตที่ 8% หลังจากส่งอกมิ.ย.มีมูลค่า 21,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 16 ที่ 8.2% และการส่งออกในรูปเงินบาท 694,113 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน
ส่วนการนำเข้าในเดือนมิ.ย. มูลค่า 20,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.8% และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 652,583 ล้านบาท ขยายตัว 3.4% ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,579 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 41,530 ล้านบาท
“การส่งออกเดือนมิ.ย.ยังคงสามารถกระจายการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป(15), ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย และ CLMV โดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายตัวสูงสุดในประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลถึงการส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะกลุ่มเหล็ก และอลูมิเนียม ” นางสาวกัณญภัคกล่าว
สำหรับปัจจัยบวกสำคัญ ได้แก่ อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดศักยภาพสูง สอดคล้องกับภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าน้อยกว่าที่คาดการณ์กันไว้ การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ แสดงถึงการลงทุนของภาคการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต แนวโน้มการกระจายตลาดการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้ากับคู่ค้าหลัก ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้า แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า เพิ่มความความสามารถในการแข่งขัน นโยบายผลักดันการพัฒนาธุรกิจ e-Commerce ของภาครัฐ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร
ขณะที่ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 –Safeguard Measure ที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และแผงโซลาเซล ความผันผวนของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เงินไหลกลับไปยังสหรัฐฯ กดดันอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกไทยควรจับตามองและทำประกันความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ และเงินบาทอ่อน มีผลต่อผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิต เผชิญปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น สินค้าเกษตรบางรายการยังคงเผชิญสภาวะราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ปัญหาความแออัดภายในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์