HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เพิ่มอัตราเร่งในการส่งหุ้นเข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์ เห็นได้ชัดเจน นับตั้งแต่เดือนก.พ.2564 เป็นต้นมา เมื่อเปรียบเทียบกับในเดือน ม.ค. ที่มีจำนวน 11 หลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นเป็น 18 หลักทรัพย์ และ 23 หลักทรัพย์ในเดือนมี.ค. ส่วนเดือนเม.ย.เพิ่งผ่านมาเพียงไม่กี่วัน พบว่านักลงทุนจะต้องวางเงินสดทั้ง 100% ก่อนสั่งซื้อหุ้นมากถึง 11 หลักทรัพย์ ด้วย 2-3 เหตุผล…
หนึ่งในความเข้มเกิดขึ้น ภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ตั้งข้อสังเกตุกับตลาดหลักทรัพย์ว่า “ให้ความสำคัญกับเรื่องการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์น้อยกว่าเรื่องธุรกิจ” เนื่องในโอกาสเข้าพบนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์คนใหม่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันตลาดมีการเก็งกำไรสนุกมือในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยขาใหญ่จุดพลุ และรายย่อยตามแห่
นอกจากนี้บริษัทหลายแห่งยังพร้อมใจกันประกาศข่าวดี เรื่องการขยายธุรกิจใหม่ ที่มีกัญชงและกัญชาเข้ามาเกี่ยวข้อง สร้างความคาดหวังกำไรโต จึงเกิดการไล่ซื้อหุ้นรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยเครื่องมือของตลาดที่มีอยู่ อาทิ สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้น) และการหักกลบค่าซื้อขาย ( เน็ตเซทเทิลเมนท์) ภายในวัน จนราคาพุ่งแรง สนับสนุนด้วยวอลุ่มหนาตาผิดปกติ
ด้านตลาดหลักทรัพย์ชี้แจงเรื่องการออกมากำกับ และเตือนผู้ลงทุนมากขึ้นในช่วงนี้ว่า เป็นการทำหน้าที่ตามปกติตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีระบบการกำกับดูแลและตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์อยู่แล้ว หากพบความผิดปกติ ก็จะดำเนินการตามขั้นตอน และตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะกรรมการและผู้บริหารได้ให้ความสำคัญด้านการกำกับดูแลการซื้อขายให้เป็นไปอย่างโปร่งใส เพื่อดูแลผู้ลงทุนมาโดยตลอด
ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าตลาดใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจว่าหุ้นตัวใดจะเข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์หรือไม่ ตลาดชี้แจงว่ามีการพิจารณาแต่ละกรณี อยู่ภายใต้เกณฑ์กำกับดูแลที่มีมาตรฐานเดียวกัน
แหล่งข่าวจากวงการตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า หุ้นจะเข้าแคชบาลานซ์หรือรอดไปได้อย่างฉิวเฉียด เกิดจากตลาดกำหนดเพียงเกณฑ์เบื้องต้น เช่น หุ้นที่มีการซื้อขายที่ระดับ P/E สูงเกิน 40 เท่า ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีผลดำเนินงานขาดทุน แต่ตลาดไม่ได้ระบุเงื่อนไขว่าต้องมีอัตราหมุนเวียนการซื้อขาย (Turnover ratio) และมูลค่าการซื้อขายเท่าไร อย่างไรก็ตามโบรกเกอร์ก็สามารถคาดการณ์ข้อมูลเบื้องต้นได้ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งจะใช้เกณฑ์ในการคำนวณไม่เหมือนกัน
” หุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ในแต่ละสัปดาห์ ตลาดจะใช้ข้อมูลราคา และมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยจนถึงวันวันพฤหัสบดี หากบริษัทใดมีความเสี่ยงสูง ก็จะถูกควบคุม กดราคาและวอลุ่มลง เพื่อไม่ให้หุ้นถูกขัง และจะเริ่มกลับมาเก็งกำไรกันใหม่ในวันศุกร์ นักลงทุนที่ติดความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ถือโอกาสซื้อและขายทำกำไรได้ดีในช่วงนั้น”
สำหรับนักลงทุนที่ชอบเข้าไปเก็งกำไร ขอเตือนว่าจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะราคาถีบตัวขึ้นสูงเกินไปมาก โดยเฉพาะตัวหุ้นที่มีผลงานขาดทุนมานาน หรือไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เพราะหากหนีไม่ทันกับเกมส์ที่ขาใหญ่คุมอยู่ จะได้รับความเสียหายมาก
ยกตัวอย่าง กรณีบริษัท ซีมิโก้ แคปปิตอล (ZMICO) ที่เข้าเกณฑ์แคชบาลานซ์ระดับ 3 ถือว่าสูงสุดแล้ว แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งความร้อนแรงได้ ตลาดจึงต้องเล่นบทเข้ม ออกโรงเตือน ทำให้ราคาที่วิ่งขึ้นไปสูงสุดถึง 5.45 บาท กลับอ่อนแรงลงมาอย่างต่อเนื่องเหลือ 4.90 บาท ล่าสุด เท่ากับร่วงลงไปประมาณ 10% และยังมีโอกาสลงไปต่อ เพราะราคาที่วิ่งขึ้นมามากกว่า 100% ยังไม่มีปัจจัยพื้นฐานใหม่ๆ มารองรับ บริษัทประกาศเพียงการตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ เพื่อลงทุนหุ้นนอกตลาด และอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
เช่นเดียวกับหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ที่วิ่งแรงผิดปกติ จากที่ย่ำบริเวณ 30 บาทเศษมานาน พุ่งพรวดเดียวทะลุ 800 บาท เมื่อต้นปี 2564 แม้ติดแคชบาลานซ์ แต่ราคาบางวันยังปรับตัวขึ้นแรงต่อ จนตลาดต้องดับร้อนถึงระดับ 2 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 มาถึงวันนี้เหลือเพียง 300 บาทเศษเท่านั้น แม้บริษัทมีกำไรเติบโตดี และมีความพยายามไล่ราคารอบใหม่ แต่เชื่อว่าคงจะยากที่จะเห็นราคาขึ้นไปซื้อขายบริเวณ 800 บาท อีกครั้งในเร็วๆนี้ ล่าสุดบริษัท สบาย เทคโนโลยี (SABUํY) ก็ถูกจัดเต็มเข้าระดับ 2 แล้ว ใครจะเข้าไปเก็งกำไร ต้องระวังตัวให้ดี เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน….