HoonSmart.com>>หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) วิ่งแรงแซงหน้าธนาคารกรุงเทพ (BBL) หลังเซอร์ไพรส์ผลงานไตรมาส 4 และปี 2563 ออกมาสวยเกินคาดการณ์ นักวิเคราะห์ทยอยปรับเป้าหมายของราคาและกำไรสุทธิปี 2564 ส่วนธนาคารกรุงเทพ แม้ว่าจะสร้างความผิดหวังอย่างรุนแรง แต่ยังคงได้รับเลือกให้เป็นหุ้น Top Pick ของกลุ่มธนาคาร เพราะมีหลายปัจจัยสนับสนุนการเติบโตระยะยาว …
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นทั้งสองแบงก์ต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ โดยธนาคารกสิกรไทยเป็นแชมป์สูงสุดที่ 250 บาทต่อหุ้น แต่ก็แย่ที่สุดในช่วงเจอวิกฤตโควิด-19 ระบาด ดิ่งลงไปต่ำสุด 70.75 บาท ขณะที่ธนาคารกรุงเทพขึ้นไปได้สูงสุดเพียง 233 บาท และลดลงไปต่ำสุดที่ 88 บาท สะท้อนถึงความแข็งแกร่งมากกว่า แต่ใครจะไปคิดว่าธนาคารกสิกรไทยวิ่งพรวดเดียวขึ้นมาปิดที่ 129 บาท สูงกว่าคู่แข่งถึง 7 บาท หรือ 5% เศษ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564
การซื้อหุ้นแบงก์เพื่อลงทุน นอกจากพิจารณาเรื่องกำไรสุทธิดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าที่คาดการณ์แล้ว จะต้องพิจารณาเรื่องความแข็งแกร่ง ผ่านการตั้งสำรอง และเงินกองทุน พร้อมโอกาสการเติบโตในระยะยาวด้วย โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ให้ราคาเป้าหมายปีนี้ของ BBL สูงกว่า KBANK
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำซื้อ BBL ราคาเป้าหมาย 151 บาท แม้กำไรไตรมาส 4 /2563 ออกมาต่ำกว่าคาดมาก คือทำได้เพียง 2,400 ล้านบาท หดตัวถึง 40% จากไตรมาสที่ 3 และทรุดลง 70% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มองว่าปัจจัยส่วนใหญ่ เป็นการรับรู้ค่าใช้จ่ายพิเศษครั้งเดียวและการเร่งตั้งสำรอง เพื่อรองรับความเสี่ยง ขณะที่คุณภาพพอร์ตสินเชื่อ ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง
ทั้งนี้ ยังคงคาดการณ์ปี 2564 ธนาคารกรุงเทพจะมีกำไรสุทธิ 26,278 ล้านบาท เติบโต 52.9% ฟื้นตัวได้เด่นจากฐานที่ต่ำในปี 2563 และอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ที่สูงขึ้นเป็น 181.6% เป็นระดับที่สูงสุดในกลุ่มแบงก์ใหญ่ ทั้งที่พอร์ตของธนาคารมีสัดส่วนลูกหนี้ SME ที่เป็นกลุ่มเปราะบางในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าแบงก์อื่น คาด Credit Cost จะผ่อนคลายลง ประกอบกับปี 2564 เป็นปีแรกที่จะรับรู้กำไรจากธนาคารเพอร์มาตา อินโดนีเซียเข้ามาเต็มปี
“ช่วงสั้นอาจมีแรงขายหุ้น BBL จากผลดำเนินงานที่น่าผิดหวัง แต่ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของกำไรที่จะโดดเด่นในปี 2564 มากกว่า อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside ราว 18.9% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2564 ที่ 151 บาท คาดมีเงินปันผลอีกหุ้นละ 3.36 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 2.6% ” บล.หยวนต้าระบุ
บล.ทรีนีตี้ แนะนำ “ซื้อ” BBL ราคาเป้าหมาย 147 บาท คาดกำไรปี 2564 ที่ 2.1 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัว 21% เนื่องจากจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการควบรวมธนาคารเพอร์มาตาเหมือนในปี 2563 ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้คาดว่าจะลดลงเช่นกัน แต่ภายหลังการประชุมนักวิเคราะห์และการให้เป้าหมายทางการเงินของธนาคาร อาจมีการปรับประมาณการอีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันราคาหุ้นได้สะท้อนกำไรที่อ่อนตัวลง และความเสี่ยงไปมากแล้ว
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังคงเลือก BBL เป็นหุ้นเด่น ให้ราคาเป้าหมายปี 2564 ที่ 160 บาท (P/BV ที่ 0.65 เท่า) โดยยังคงใช้นโยบายการตั้งสำรองแบบระมัดระวัง แต่สัดส่วน NPL coverage เพิ่มเป็น 182% และส่วนรองรับหนี้เสียที่สูงลิ่วจะทำให้ธนาคารสามารถปรับสมดุล credit cost
ส่วนธนาคารกสิกรไทย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” และให้เป็นหนึ่งในหุ้น Top Pick ของกลุ่มธนาคาร โดยให้ราคาพื้นฐาน 181 บาท เทียบเท่ากับ P/BV ปี 64 ที่ 1.0 เท่า หลังจากกำไรไตรมาส 4/2563 จำนวน 1.33 หมื่นล้านบาท ดีกว่าคาดการณ์ไว้มาก เพิ่มขึ้น 98.5% จากไตรมาสที่ 3 เพราะตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ( ECL) เพียง 669 ล้านบาท ส่วนทั้งปี 2563 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 2.95 หมื่นล้านบาท -23.9% จากปีก่อน สินเชื่อเติบโต 12.7% โดยหลักมาจากสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และสินเชื่อที่พักอาศัย
บล.ดีบีเอสฯระบุว่า ธนาคารกสิกรไทยมี NPLs ratio เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.93% ในสิ้นเดือนธ.ค.2563 จาก 3.95% ในสิ้นเดือนก.ย. โดยมี Coverage ratio สูงขึ้นเป็น 149% ในสิ้นปี 63 ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 4 มีการ Write off 6.1 พันล้านบาท และขาย NPLs ออกไป 4.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ 94% ของสินเชื่อที่อยู่ในโครงการผ่อนปรนฯสามารถจ่ายหนี้ได้ปกติ ทั้งนี้ในช่วงเริ่มต้นธนาคารมีสินเชื่อที่เข้าโครงการผ่อนปรนฯ 40% ของสินเชื่อทั้งหมด และในสิ้นธ.ค.2563 ลดลงเหลืออยู่ 19% ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่ง 94% ในนี้สามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติ
ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.80% แบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.13%
ขณะที่บล.เคจีไอฯ ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น”ซื้อ” และปรับเป้าราคาปีนี้เป็น 161 บาท (P/BVที่ 0.08 เท่า) หลังปรับประมาณการกำไรปี 2564 และ2565 เพิ่ม 42% และ 11% และบล.ฟิลลิป เพิ่มเป้าเป็น 142 บาท เพิ่มประมาณการกำไรปี 64 ขึ้นเป็น 3.4 หมื่นล้านบาท
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” เพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 160 บาท (P / BV ปี 2564 0.8 เท่า และ ROE 9.1%) จาก 140 บาท ปรับเพิ่มกำไรต่อหุ้นปี 2564-2565 ขึ้น 20% จะเติบโต 8-11% ในปีนี้และปีหน้า เพื่อสะท้อนต้นทุนสินเชื่อที่ลดลง 0.03% เป็น 1.70-1.75% คุณภาพสินทรัพย์แย่น้อยกว่าคาด เชื่อว่าสถานการณ์ NPLs ยังคงสามารถจัดการได้และเห็นผลกระทบที่จำกัดต่อระดับเงินกองทุนเนื่องจากมาตรการผ่อนปรนจากผู้กำหนดนโยบายที่สนับสนุนให้ธนาคารกระจายระดับผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพสินทรัพย์ ดังนั้นธนาคารสามารถสร้างรายได้เพื่อดูดซับความสูญเสียที่เกิดจาก NPLs ในระยะยาว
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีมุมมอง Credit Cost เริ่มผ่อนคลาย หลังลูกหนี้ชำระคืนเงินดีกว่าคาด โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 ในระดับเดิมที่ 30,259 ล้านบาท โต 2.6% กำไรสุทธิและมูลค่าพื้นฐานมีโอกาสถูกปรับขึ้น หลังจบการประชุมวันที่ 29 ม.ค. 2564 อย่างไรก็ตามราคาหุ้นปรับขึ้นมาจนทำให้ Upside เหลือน้อย จากมูลค่าพื้นฐานเดิมปี 2564 ที่ 128 บาท
ในสัปดาห์นี้ ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์จะไปต่อหรือไม่ อาจมีลุ้น หากนักวิเคราะห์พบผู้บริหารแล้วเห็นสัญญาณบวก มีการปรับเป้าหมายกำไรปีนี้และราคาหุ้นให้กับธนาคารหลายแห่ง