HoonSmart.com>> “กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” รับทรัพย์ขายโซลาร์ฟาร์ม Iwakuni ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลิต 75 เมกะวัตต์ (MW) และตามการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 2,863 ล้านบาท บันทึกกำไร 1,090 ล้านบาทในไตรมาส 4/63 หนุนปี 63 กำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ฟาก “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” เผยสามารถนำกำไรมาลงทุนโครงการใหม่ได้มากกว่า 150 เมกะวัตต์ ไม่ต้องใช้เงินทุนบริษัทฯ เพื่อเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์
น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2563 อนุมัติให้ Gunkul International (Mauritius) (GIM) และ Future Asset Management KK (FAM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น 100% ใน East Japan Solar 13 Godo Kaisha (EJS 13) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ประเทศญี่ปุ่น (โครงการ Iwakuni) กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 75 เมกะวัตต์ (MW) และตามการผลิตติดตั้ง 98 เมกะวัตต์ ให้กับผู้ซื้อ ประกอบด้วย GK Kaihatsu No.77 และ ISH Kaihatsu No.77 มูลค่าการขายรวม 9,942.65 ล้านเยน หรือ 2,863.84 ล้านบาท
“การขายโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม Iwakuni ในประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในงบการเงินไตรมาส 4/2563 เป็นมูลค่า 1,091 ล้านบาท (อัตรา 0.287419 เยนต่อบาท) โดยบริษัทได้รับชำระราคาเรียบร้อยแล้ว”น.ส.โศภชา กล่าว
สำหรับประโยชน์จากการจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์ม Iwakuni ทำให้บริษัทฯ สามารถบันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนได้ทันที และนำกำไรที่ได้มาลงทุนสำหรับโครงการใหม่ได้มากกว่า 150 เมกะวัตต์ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินส่วนทุนของบริษัทฯเพิ่ม อันจะนำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตสู่ 1,000 เมกะวัตต์ในอนาคต ซึ่งในแต่ละปีบริษัทฯ ใช้งบลงทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท อีกทั้งยังสามารถได้รับผลตอบแทนจากเงินลงทุนที่รวดเร็วจากการลงทุนโครงการใหม่ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Iwakuni ต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี จึงจะสามารถจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2563 คาดว่า กำไรจะเติบโตเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการเติบโตในธุรกิจทุกด้าน และทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่างานก่อสร้างที่ได้รับไว้แล้วกว่า 8,000 ล้านบาท ประกอบกับการจำหน่ายเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ทำให้บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 2564 ที่บริษัทฯ มีความพร้อมในการลงทุนประมาณ 8,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากมีกระแสเงินสดในมือ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนได้มากขึ้น และจะเป็นหลักประกันสำคัญในด้านความเติบโตของ GUNKUL ต่อไป
“ฝ่ายบริหารบริษัทฯ เห็นว่าการจำหน่ายโครงการดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของการสร้างกระแสเงินสด เสริมความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน ทำให้บริษัทฯ มีโอกาส ได้รับผลตอบแทนเงินลงทุนเร็วขึ้นและมากกว่า ดังนั้นกำไรจากการจำหน่ายในโครงการดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องใช้ส่วนทุนเพิ่มในการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในอนาคต ที่สำคัญสร้างผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ สูงกว่า”นางสาวโศภชากล่าว