นักลงทุนสถาบันชี้ การพัฒนา “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ของตลาดทุน ทำให้หุ้นขึ้น-ลง แรง ระบุบล็อกเทรด โหดกว่าเล่นมาร์จิ้น ร้องตลาดเพิ่มข้อมูลรับมือการเก็งกำไร
แหล่งข่าวนักลงทุนสถาบัน เปิดเผยว่า การที่หุ้นหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นซิลลิ่ง หรือกระแทกลงแรงติดฟลอร์ 30 % ของราคาปิดครั้งก่อน สาเหตุหลักจากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดทุน เช่น DW, บล็อกเทรด ทำให้หุ้นซิลลิ่ง-ฟลอร์ ง่าย และทำให้ตลาดหุ้นเพี้ยน โดยเฉพาะบล็อกเทรด ที่มีผลกับตลาดสูง เกิดความผันผวนได้ง่าย จากปริมาณหุ้นเทียมที่เข้ามาในตลาดจำนวนมาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปกตินักลงทุน 1 ราย จะใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือมาร์จิ้น ไม่กี่แห่ง หรือ 1-2 แห่งเท่านั้น และวงเงินมาร์จิ้นขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์แต่ละราย หุ้นแต่ละตัว โดยปกติวางเงิน 30-50 บาท ซื้อหุ้นได้ 100 บาท ขณะที่บล็อกเทรด นักลงทุน 1 คน สามารถทำบล็อกเทรดได้หลายที่ ในหุ้น 1 ตัว และวางเงินเพียง 10 % ของหุ้นเท่านั้น ซึ่งกำลังของบล็อกเทรดมีมาก เป็นตัวทวีคูณของหุ้น จึงส่งผลแรงกับหุ้นทั้งขาขึ้นและขาลง เช่นที่เกิดกับหุ้นหลายตัวในตลาดหลักทรัพย์
“บล็อกเทรด โหดมากกว่ามาร์จิ้น เพราะใช้วงเงินเดียวกัน เวลาที่วงเงินเต็มทุกโบรกเกอร์ หากหุ้นมีข่าวไม่ดี ก็ขายออกมาพร้อมกัน เป็นเหตุให้หุ้นตกรุนแรงในเวลาเดียวกันที่พร้อมใจกันใช้บล็อกเทรด ทำให้หุ้นขึ้นแรงเช่นกัน “ แหล่งข่าวกล่าวและเรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ เพิ่มเติมข้อมูลหุ้นบล็อกเทรดรายตัวให้ชัดเจน เพราะข้อมูลที่ตลาดเปิดประจำวัน เป็นภาพกว้าง เพื่อให้เป็นผลดีกับนักลงทุนทั่วไป รับมือได้กับบล็อกเทรด ลดภาวะการเก็งกำไรจากข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส กล่าวเช่นกันว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีมีการลงทุนแบบบล็อกเทรดจำนวนมาก ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมากขึ้น
ข้อมูลประกอบ