ความจริงความคิด : ผู้หญิง ผู้นำเศรษฐกิจ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ในอดีตนิตยสาร “TIME” เคยขึ้นปก “The Richer Sex” เป็นสกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับความสำคัญของเพศหญิงต่อเศรษฐกิจ โดย Liza Mundy

โดยผู้เขียนได้ยกข้อมูลของ The New York Times ที่รายงานว่า ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆที่มีบุตรโดยไม่ได้แต่งงาน และ มากกว่าครี่งหนึ่งของเด็กที่แม่อายุต่ำกว่า 30 ปีที่เกิดในปี 2009 มาจากแม่ที่ไม่ได้แต่งงาน หรือพูดง่ายๆก็คือ single mum เริ่มเป็นเรื่องปกติในสังคมอเมริกา (ในสังคมไทยเท่าที่ผมเห็นตอนนี้ single mum ก็เป็นเรื่องปกติเหมือนกัน)

ขณะเดียวกันการที่ผู้ชายเองก็ตกงานมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงเองเริ่มประสบปัญหาการหาคู่ชีวิตที่มีการศึกษาดี มีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ทำให้แนวโน้มที่ผู้หญิงจะเป็นโสดสูงขึ้นเช่นกัน


นอกจากนี้ Mundy ยังรายงานเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลของสำนักงานสถิติด้านแรงงานพบว่าอาชีพด้านบริหารและวิชาชีพต่างๆ เป็นของผู้หญิงถึง 51% และผู้หญิงเป็นผู้หารายได้หลักและมีส่วนร่วมเป็นผู้หารายได้หลักเลี้ยงครอบครัวถึง 2 ใน 3 ของคู่สมรสในอเมริกา ด้านการศึกษา ผู้หญิงก็ประสบความสำเร็จมากกว่าผู้ชายเช่นกัน โดย 57% ของผู้จบปริญญาตรีเป็นผู้หญิง และ 60% ของผู้ที่จบปริญญาโทก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน

นอกจากนี้ช่องว่างด้านรายได้ระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงก็แคบลงเสมอมา โดยในปี 2010 ผู้หญิงได้รับค่าจ้างโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 81.2% ของค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้ชายได้รับ เพิ่มขึ้นจากในปี 1979 ที่ผู้หญิงเคยได้รับประมาณ 62% ของค่าจ้างที่ผู้ชายได้รับ แต่ Mundy ก็ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าอาจมีปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้ช่องว่างแคบลงด้วยเช่นกัน เช่น อาจมาจากงานบางประเภทที่ลดลงหรือสูญหายไปจากสังคม เช่น งานพนักงานไปรษณีย์ เสมียน ฯลฯ และอาจเกิดจากแรงงานที่เป็นผู้หญิงอายุน้อย (ซึ่งมักได้รับค่าจ้างต่ำ)ลดลงด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากประกฎการณ์เหล่านี้ ทำให้ Mundy สรุปในท้ายที่สุดว่า ผู้หญิงจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นผู้หารายได้หลักในการเลี้ยงครอบครัว ประกฎการณ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้หญิงมีอิสระมากขึ้น หรือ ผู้หญิง คือ “The Richer Sex” นั่นเอง

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้แย้งกับข้อสรุปของ Mundy ที่ว่าผู้หญิงคือ “The Richer Sex” โดย Richard Florida,บรรณาธิการอาวุโสของ “The Atlantic” และผู้เขียนหนังสือ “The Rise of the Creative Class” อ้างรายงานจาก the Government Accountability Office เมื่อปีที่ผ่านมาว่า ในบางอาชีพที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ (creative class) เช่น อาชีพนักเขียน วิศวคอมพิวเตอร์ ทนาย นักวิทยาศาสตร์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ ผู้หญิงจะมีรายได้ต่ำกว่าผู้ชายโดยทั่วไป แม้ผู้หญิงจะมีการศึกษาที่สูงกว่าผู้ชายก็ตาม

ประกฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่อเมริกา เพราะไทยเองก็เป็นในทำนองเดียวกัน จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อปีที่ผ่านมาระบุว่า อัตราเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น และเด็กที่หลุดจากระบบส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชาย พบว่าเมื่อถึงชั้นมัธยมเด็กนักเรียนชายจะเหลือเพียง 35-40% เท่านั้น และเมื่อชายไทยมีการศึกษาน้อยลง ประกอบกับทัศนคติของชายไทยจะมุ่งทำงานที่สบาย ทำให้ความสามารถในการสร้างงานหรือเพิ่มรายได้ก็จะต่ำ

ขณะที่เด็กนักเรียนหญิงจะมีการศึกษาสูงขึ้น และจะมุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพแพทย์ วิศวกร พยาบาล ส่งผลให้หญิงไทยมีการศึกษาสูง นิยมแต่งงานกับผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่า จึงมีแนวโน้มที่หญิงไทยจะเป็นโสดมากขึ้น เพราะสามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น หรือหากมีครอบครัวก็จะมีบุตรน้อย สถานการณ์ดังกล่าวสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์แห่งสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ขณะนี้ผู้ควบคุมกำลังการผลิตของประเทศมากกว่า 50% จะเป็นฝ่ายหญิง

แต่ในด้านรายได้ ผมยังไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่าในแต่ละอาชีพมีความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างชายไทยกับหญิงไทยอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ แต่หากประเมินจากประสบการณ์ทำงานในธุรกิจสถาบันการเงินตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็สรุปได้ว่า ประเทศไทยให้ความเท่าเทียมกันเรื่องเพศสูงสุดประเทศหนึ่งเหมือนกัน ปัจจัยเรื่องเพศไม่ได้ถูกนำมาประเมินเป็นปัจจัยในการพิจารณารายได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผลงานและความสามารถ ทัศนคติ เท่านั้น ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ผมเห็นว่าแนวโน้มที่ผู้หญิงจะเป็น “The Richer Sex” แทนผู้ชาย คงไม่ไกลเท่าไรนัก

สุดท้าย ขอจบด้วยปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีความสุขที่ผมเคยอ่านพบจากหนังสือ “ศรัทธา” เขียนโดยคุณเพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ ว่า ผู้หญิงจะมีความสุข ถ้ามีครบ 4B คือ Beauty (ความสวยงาม) Brain (ความรู้ที่สูง) Bank (ฐานะทางการเงินที่ดี) Breeding (ครอบครัวที่อบอุ่น) ตอนนี้ผู้หญิงก็มีจะครบ 4B แล้ว ห่วงก็แต่พวกเราผู้ชาย อย่าทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่า B ตัวที่ 4 (Breeding) จะมีได้ดีกว่าถ้าไม่มีผู้ชายนะครับ