INGRS พลิกขาดทุน 16.73 ลบ.งวด Q3/63 พิษโควิด

HoonSmart.com>> “อิงเกรส อินดัสเตรียล” ไตรมาส 3/63 พลิกขาดทุนสุทธิ 16.73 ล้านบาท จากงวดปีก่อน พิษโควิด-19 ฉุดรายได้จากการขายลดลง 41 ล้านบาท หรือ 5.9% พิษโควิด-19 กระทบอุตฯ ยานยนต์ ส่วน 9 เดือนขาดทุน 170.76 ล้านบาท

บริษัท อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) หรือ INGRS เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2563/3564 สิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.2563 พลิกขาดทุนสุทธิ 16.73 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.012 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 16.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.011 บาท

ส่วนงวด 9 เดือน ปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 170.76 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.118 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 31.65 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.022 บาท

บริษัทฯ ชี้แจงว่า ในงวดไตรมาส 3 มีรายได้จากการขายจำนวน 654.15 ล้านบาท ลดลง 41.19 ล้านบาท หรือ -5.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้ในไทยมีจำนวน 205.47 ล้านบาท ลดลง 37.65 ล้านบาท หรือ -15.5% เมื่อเทียบงวดปีก่อน รายได้จากมาเลเซียจำนวน 369.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.41 ล้านบาท หรือ 6.4% เมื่อเทียบงวดปีก่อน รายได้จากอินโดนีเซีย 27.34 ล้านบาท ลดลง 33.52 ล้านบาท หรือ -55.1% จากงวดปีก่อนและรายได้จากอินเดีย 51.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.56 ล้านบาท หรือ 17.2% จากงวดปีก่อน

สำหรับประเทศไทย มีกำลังการผลิตสูงเนื่องจากบริษัทผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยกลับมาดำเนินการเต็มรูปแบบ และมียอดการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเทศมาเลเซีย คำสั่งซื้อที่แนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2-3 เนื่องมาจากการยกเว้นภาษีการขาย 100% ที่รัฐบาลให้สำหรับการซื้อรถ CKD ซึ่งจะมีจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2563

ด้านประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย ปริมาณคำสั่งซื้อในไตรมาสที่3 เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากบริษัทผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติ แต่ยังไม่อยู่ในสภาวะปกติ เนื่องจากทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19)

อย่างไรก็ตามถึงแม้รายได้จากการขายในไตรมาส 3 จะลดลงจากงวดปีก่อน แต่สูงกว่าไตรมาส 2 ปรัมาณ 244.19 ล้านบาท หรือ 59.6% เนื่องมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ถึงแม้ปริมาณของรายได้จากการขายจะยังไม่มีความเสถียร เนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อโควิด-19 แต่ตัวเลขของรายได้จากการขายแสดงถึงการฟื้นตัวในเชิงบวกของตลาดของอุตสาหกรรมยานยนต์

สำหรับไตรมาส 4 ปริมาณความต้องการของรถยนต์ใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากปริมาณของคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นมากและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลแต่ละประเทศนำเสนอเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

อย่างไรก็ตามบริษัทหวังว่าภาพรวมของผลประกอบการในไตรมาส 4 จะดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและมาเลเซียเป็นส่วนสำคัญและแนวโน้มนี้คาดว่าจะมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง