HoonSmart.com>>หุ้นไทยบวกแรง 1.44% มากกว่าภูมิภาค ได้กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และแบงก์ใหญ่หนุน ธปท.ปรับเกณฑ์ตราสารหนี้ ให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 สามารถให้ผลตอบแทนได้ง่าย เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีเวลาชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี หนุนขยายสินเชื่อมากขึ้น ลุ้นประมูลโอเปก คาดขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไป
ตลาดหลักทรัพย์วันที่ 3 ธ.ค. 2563 ดัชนีปิดที่ระดับ 1,438.32 จุด +20.37 จุด หรือ +1.44% มูลค่าการซื้อขาย 82,636.93 ล้านบาท นำโดยกลุ่มปิโตรเคมี ดัชนีบวก 3.90% ดัชนีกลุ่มแบงก์ +1.84% และดัชนีพลังงาน +1.90%
ตลาดที่เพิ่มขึ้นมากมาจากแรงซื้อของสถาบันไทย 1,396.95 ล้านบาท รองลงมาบัญชีหลักทรัพย์ซื้อ 993.54 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 967.64 ล้านบาท ด้านนักลงทุนไทย 3,358.13 ล้านบาท
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นไทยบวก 20.37 จุด หรือ 1.44% สูงกว่าตลาดภูมิภาคที่บวกเฉลี่ย 0.5% โดยนักลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ที่เปิดรับความเสี่ยงอยู่ และเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาหนุน มีแรงซื้อหุ้นใหญ่อย่าง PTT และ KBANK ราคาปรับตัวขึ้นได้ดี
“เราแนะนำซื้อหุ้นขนาดใหญ่ ทั้ง PTT จากการเป็นธุรกิจต้นน้ำ และราคาหุ้นยังปรับขึ้นไม่มาก และ KBANK ราคายังปรับขึ้นไม่สูงมาก และพอร์ตสินเชื่อได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายวิจิตร กล่าว
ส่วนแนวโน้มหุ้นวันที่ 4 ธ.ค. 63 ยังปรับเพิ่มขึ้นได้อีก ประเมินแนวรับที่ 1,410 จุด และมีแนวต้านที่ 1,450 จุด ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การประชุมโอเปกคืนนี้ คาดว่าจะเห็นการขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไปอีก
หุ้นกลุ่มธนาคารเด้งขึ้นแรงในช่วงบ่าย นำโดย KBANK ปิดที่ 115.50 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท มูลค่าการซื้อขายถึง 4,647 ล้านบาท หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการปรับเกณฑ์คุณสมบัติตราสารทางการเงินดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างระดับเงินกองทุนให้สูงขึ้นในการรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าระดับเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง โดย ณ กันยายน 2563 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 19.43%
หลักเกณฑ์คุณสมบัติที่ปรับใหม่ให้กลับมาเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์สากล ได้แก่ ตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ Tier 1 (T1) ซึ่งเป็นตราสารทางการเงินที่ไม่มีกำหนดเวลาการชำระคืน ธปท. ให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายผลตอบแทนได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหากระดับเงินกองทุน (BIS Ratio) ของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าที่ ธปท. กำหนด
ส่วนตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 หรือ Tier 2 ซึ่งเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีกำหนดเวลาการชำระคืนอย่างน้อย 5 ปี ธปท. ยกเลิกข้อกำหนดสิทธิให้ธนาคารพาณิชย์เลื่อนเวลาการชำระดอกเบี้ยได้
ส่วนประโยชน์ของการปรับหลักเกณฑ์จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับผลตอบแทน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น และทำให้ระดับเงินกองทุนและสภาพคล่องสูงขึ้น ช่วยเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและประชาชน พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
อ่านประกอบ
เชื่อมั่นเพิ่มอย่างร้อนแรง ชี้เป้าหุ้นปีหน้า1,580 ชูพลังงานเด่น