ความจริงความคิด : ซื้อทองคำดีมั๊ย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

วันก่อนมีน้องที่รู้จักไลน์มาหา “พี่ตอนนี้ซื้อทองดีมั๊ย เห็นทองคำราคาตกลงมามากจากสิ้นเดือนสิงหาคมที่บาทละ 29,048.59 บาทเหลือบาทละ 25,909.82 บาท (26 พ.ย.63)“

แค่วิธีคิดก็ผิดแล้ว เพราะการลงทุน คือ การจ่ายเงินวันนี้เพื่ออนาคต ดังนั้นการลงทุนโดยมองอดีตไม่ต่างอะไรกับการขับรถโดยมองกระจกหลัง

การลงทุนที่ดี คือ ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน ดังนั้นไม่สำคัญว่าราคาที่ซื้อวันนี้ถูกหรือแพงกว่าเมื่อวาน ขอแค่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนก็ ok ดังนั้นการลงทุนที่ดีจึงต้องประเมินอนาคตให้ผิดพลาดให้มากที่สุด เพราะไม่มีใครสามารถคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้อง 100%

ดังนั้นถามว่า ตอนนี้ควรจะลงทุนทองดีหรือไม่ ช้อนซื้อตอนนี้ จะเป็นราคาที่ดอยหรือก้นเหว เรามาดูธรรมชาติของทองคำกันนะ ทองคำดำรง 2 สถานะ คือ

1.เป็นโลหะมีค่าที่เรายอมรับมานานหลายพันปี และยังได้เคยเป็นโลหะหนุนหลังเงินสกุลหลักของโลก เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ (สหรัฐฯ ประกาศยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ระหว่างเงินดอลลาร์กับทองคำที่ราคา 35 ดอลลาร์ ต่อ 1 ออนซ์ เมื่อปี 1971 เพราะในช่วงก่อนหน้านั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิมพ์เงินออกมาในปริมาณมากกว่าปริมาณทองคำทุนสำรองของประเทศ)

2.เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทหนึ่งที่นิยมกันมากในการบริหารความเสี่ยง การป้องกันเงินเฟ้อ และการเก็งกำไร

ในปัจจุบันทองคำมีบทบาทในฐานะสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมากกว่าในฐานะโลหะมีค่าหรือหนุนหลังสกุลเงินมาก ดังนั้นเราจึงเห็นราคาทองคำผันผวนขึ้นลงมากในแต่ละวันตามปัจจัยต่างๆที่เข้ามากระทบ

เคยอ่านเจอในบทความ “การลงทุนในทองคำ” โดย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร – Optimise Magazine ว่ามีนักลงทุนรายหนึ่งเปรียบทองคำว่าเป็นเสมือนพันธบัตรที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ

1. Zero Coupon กล่าวคือ ไม่จ่ายดอกเบี้ย
2. Perpetual คือ ไม่หมดอายุ
3. ราคามักปรับขึ้นเมื่อเงินเฟ้อสูง (inflation hedge)
4. ไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืนหากเราถือทองคำเอาไว้กับตัว
5. มีปริมาณจำกัด อิงข้อมูลจาก World Gold Council ที่ระบุว่าทองคำบนโลกที่ถูกขุดออกมาแล้วมีปริมาณ 197,576 ตัน และคาดว่ายังมีฝังอยู่ในดินอีกเพียง 54,000 ตันเท่านั้นซึ่งปัจจุบันเหมืองทองต่างๆ สามารถผลิตทองคำใหม่ออกมาได้เพียง 2,600 ตันต่อปี หรือมีอุปทานเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% ต่อปีเท่านั้น

อ่านดูแล้ว เขาก็เข้าใจเปรียบเทียบดี เพราะทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven: ที่หลบภัย” ทางการเงินหมายถึงสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ความผันผวนน้อย ทรงคุณค่าข้ามกาลเวลา และได้รับการยอมรับจากทุกประเทศ เมื่อเกิดเศรษฐกิจตกต่ำหรือความเสี่ยงสูงขั้นสุด นักลงทุนมักจะหันมาลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้เพื่อปกป้องความมั่งคั่งของตัวเองให้พ้นจากพิษเศรษฐกิจ คล้ายกับการย้ายลงหลุมหลบภัยนั่นเอง)

โดยปัจจัยที่ส่งกระทบต่อราคาทองคำ ได้แก่

ค่าเงินดอลลาร์
ราคาทองคำกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ จะเคลื่อนไหวผกผันกัน คือ เมื่อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงราคาทองคำมักจะขึ้น แต่ถ้าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ราคาทองก็จะลดลง เหตุผลก็เพราะทองคำถูกซื้อขายกันด้วยดอลลาร์สหรัฐ เมื่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น เราจะซื้อทองคำ เราต้องใช้เงินสกุลบ้านเรามากขึ้นเพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก่อนถึงจะซื้อทองคำได้เท่าเดิม เราก็จะมีความรู้สึกว่าทองคำแพงขึ้น เราก็จะซื้อน้อยลง เมื่อความต้องการซื้อน้อยลง ราคาทองคำก็ลดลง แต่ในทางกลับกันถ้าดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เราใช้เงินสกุลบ้านเราน้อยลงเพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐก่อนถึงจะซื้อทองคำในจำนวนเท่าเดิม เราก็จะมีความรู้สึกว่าทองคำถูกลง เราก็จะซื้อทองคำมากขึ้น เมื่อความต้องการซื้อมากขึ้น ราคาทองคำก็ปรับเพิ่มขึ้น

แต่เนื่องจากค่าเงินเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ ดังนั้นเวลาดูทิศทางเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่จะดูจาก Dollar Index ที่คำนวณถ่วงน้ำหนักเทียบกับเงิน 6 สกุลคือ Euro, Yen, Pound. Canadian, Swedish, และ Swiss franc หากเงินสกุลอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ก็แปลว่า Dollar Index จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นผลลบกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ แต่ถ้าเงินสกุลอื่นแข็งค่าขึ้น Dollar Index จะอ่อนตัวลง ก็จะเป็นบวกกับราคาทองคำ เพราะฉะนั้น ในหลักการแล้ว ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวผกผันกับดอลลาร์สหรัฐ แต่จะเคลื่อนไหวเดียวกับเงินสกุลสำคัญอื่น

ดังนั้น ปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีผลต่อราคาทองคำด้วย อย่างเช่น

GDP(Gross Domestic Product : GDP ) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เป็นตัวเลขที่บอกถึงมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะเป็นผลผลิตที่ได้จากทรัพยากรภายในหรือภายนอกประเทศ การเปลี่ยนแปลงของ GDP จึงบอกถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจว่าเติบโตหรือหดตัว ถ้า GDP ของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นแสดงว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่ามากขึ้น แต่ถ้า GDP ของสหรัฐออกมาแย่ลงจะแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีการหดตัว ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯลดลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็จะอ่อนค่า

ดังนั้น ตัวเลขที่มีผลกระทบต่อ GDP สหรัฐฯ ก็จะมีผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และมีผลกระทบต่อราคาทองคำเป็นลูกโซ่กันไป อย่างเช่น การจ้างงานมากขึ้นเป็นสัญญาณแสดงว่าเศรษฐกิจขยายตัว เพราะคนมีรายได้ ก็จะมีกำลังซื้อมากขึ้น ดอลลาร์สหรัฐฯก็จะแข็งค่าขึ้น ตัวเลขที่เกี่ยวกับการจ้างงานก็เช่น

• การจ้างงานนอกภาคการเกษตร ถ้าเพิ่ม แสดงว่าคนมีงานทำมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
• จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ หรือ อัตราการว่างงาน ถ้าเพิ่ม แสดงว่าคนมีงานทำน้อยลง เศรษฐกิจแย่ลง ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง

นโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
หากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะเจริญเติบโต ความเชื่อมั่นของประชาชนเริ่มมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวลดลง ในทางตรงกันข้ามหากปรับดอกเบี้ยนโยบายลง แสดงว่าเศรษฐกิจเริ่มแย่ ความเชื่อมั่นเริ่มลดลง ค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น ผลกระทบอีกทาง คือ หากธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เงินทุนจะไหลเข้ามาลงทุนในประเทศสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า และส่งผลให้ราคาทองคำลดลง

เงินเฟ้อ (Inflation)
เงินเฟ้อคือ สิ่งที่บอกถึงอำนาจซื้อของเงิน ถ้าอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นเรื่อยๆ บอกถึงอำนาจค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงไปเรื่อยๆ และจะส่งให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น อะไรที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อย่างเช่น ราคาน้ำมัน ถ้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ดอลลารสหรัฐอ่อนค่าลงเช่นกัน

Demand supply ของทองคำ
อุปสงค์ (Demand) คือ ความต้องการใช้ทองคำนั้น ส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ,ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการแพทย์,ภาคการลงทุนรวมถึงการที่ภาครัฐของประเทศต่างๆ มีการนำทุนสำรองไปซื้อทองคำมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เช่นจีน อินเดีย

ถ้าหากมีความต้องการซื้อทองคำสูง จะส่งผลให้ราคาทองสูงขึ้น ถ้ามีความต้องการซื้อทองต่ำ ราคาทองก็จะลดต่ำลง

ส่วนอุปทาน (Supply) นั้น คือ ความต้องการขายทองคำส่วนใหญ่มาจาก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลผลิตทองคำจากเหมืองทอง แรงขายจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ และปริมาณทองคำเก่าที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ

ถ้าหากมีความต้องการขายทองคำสูง ราคาทองจะลดต่ำลง แต่ถ้าหากมีความต้องการขายต่ำ ราคาทองก็จะสูงขึ้น ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์เหมือนราคาสินค้าทั่วไปนั่นเอง