สัปดาห์นี้ปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญคงเป็นเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน (ตามเวลาสหรัฐฯ) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐฯจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และจะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและทิศทางการลงทุนของโลกได้
ณ ปัจจุบัน จากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (Election Poll) นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันถึง 10 จุด สำหรับการสำรวจความคิดเห็นทั่วประเทศ และยังมีคะแนนนำในรัฐที่พรรคการเมืองมีคะแนนเสียงสูสีกัน (Swing States) ถึง 10 จาก 14 รัฐ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่นายไบเดนจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งหากนายไบเดนชนะการเลือกตั้ง นโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ทั้งวิธีการดำเนินนโยบายและการเปลี่ยนนโยบายจากเดิมที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้อยู่
ในด้านรูปแบบการดำเนินนโยบาย นายไบเดนมีแนวโน้มจะใช้วิธีการดำเนินนโยบายที่เป็นทางการมากขึ้น ซึ่งต่างจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่มักจะใช้วิธีตามอำเภอใจ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในแง่ที่นักลงทุนจะสามารถคาดการณ์ทิศทางการดำเนินนโยบายได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ความผันผวนของตลาดจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจน่าจะลดลง
ในด้านนโยบายเศรษฐกิจนั้น นายไบเดนมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ที่เน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก นโยบายหลักของนายไบเดนที่แตกต่างจากประธานาธิบดีทรัมป์ที่สำคัญ เช่น การปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลจาก 21% กลับไปที่ 28% การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น $15 ต่อชั่วโมง การคิดภาษี Capital Gain Tax สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น การกลับไปร่วมสนธิสัญญากรุงปารีส (เกี่ยวกับการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ) การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก และการออกกฎหมายควบคุมการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม Tech มากขึ้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจจะบั่นทอนความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯได้
อย่างไรก็ตาม นายไบเดนก็มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน $2 ล้านล้านในระยะเวลา 4 ปี ซึ่งจะเป็นนโยบายที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตต่อไปได้ นอกจากนี้ นายไบเดนยังน่าจะดำเนินนโยบายต่อต้านการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน แต่จะเปลี่ยนวิธีดำเนินการจากสงครามการค้าเป็นการพยายามสร้างความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการปิดล้อมจีน ผ่านการทำสนธิสัญญา/หุ้นส่วนทางการค้า เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership – TPP) ดังนั้น หากนายไบเดนชนะการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากการลงทุนในสหรัฐฯไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ มากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบด้านลบต่อหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวกับน้ำมันและ กลุ่ม Tech
แต่หากประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง นโยบายทางเศรษฐกิจและวิธีการดำเนินนโยบายไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในสหรัฐฯ เป็นหลัก ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกที่โอกาสจะผันผวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ไม่ว่าใครชนะการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกโดยภาพรวม เนื่องจากความเสี่ยงเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งหมดไป และประธานาธิบดีคนใหม่คงจะเร่งการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโรค COVID-19 ก่อนเป็นลำดับแรก
สำหรับประเทศไทย หากนายไบเดนชนะการเลือกตั้ง ในระยะสั้น เศรษฐกิจน่าจะได้รับผลดีจากภาคการส่งออกที่น่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากการค้าโลกขยายตัวเมื่อหมดความกังวลเรื่องสงครามการค้า แต่หากสหรัฐฯกลับเข้าร่วมผลักดัน TPP และไทยไม่ได้เข้าร่วม ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการลงทุนในระยะยาวได้ ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็น่าจะได้รับผลดีหากเม็ดเงินลงทุนไหลออกจากสหรัฐฯไปลงทุนในภูมิภาคอื่น ๆ
แต่หากประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ภาคการส่งออกน่าจะเติบโตได้น้อย จากการที่การค้าโลกชะลอตัว เหมือนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดหุ้นก็มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการที่เม็ดเงินลงทุนทั่วโลกยังคงมุ่งสู่สหรัฐฯ
อ่านบทความ