โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
วันก่อนไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้รับคำถามจากข้อสงสัยของผู้รับการอบรมหลายๆข้อ ซึ่งน่าสนใจมาก โดยเฉพาะในภาวะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเตี้ยติดดินอย่างตอนนี้ และไม่แน่อาจต่ำต่อไปอีกหากแบงค์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกตามที่คาดกัน
แถมแย่กว่านั้นดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 15 ถึงแม้เราเลือกเอาไปยื่นรวมคำนวณในเงินได้ปลายปีตอนจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ได้ (ภาษาภาษีเรียกภาษีแบบนี้ว่าเป็นภาษีสุดท้ายได้ (Final Tax))
แต่ก็มีน้อยคนมากที่เลือกที่จะนำมาคำนวณเป็นรายได้ตอนยื่นแบบสิ้นปี เพราะส่วนใหญ่จะทำให้เสียภาษีแพงขึ้น แต่ถึงเสียภาษี 15% ถ้าไม่เสียเลยก็น่าจะดีกว่า หลายคนก็เลยมองหาเงินฝากที่อย่างน้อยไม่ต้องเสียภาษี จะได้ช่วยเพิ่มผลตอบแทนให้เงินอีกหน่อย งั้นเรามาดูกันเลยนะว่าเงินฝากอะไรบ้างที่ไม่ต้องเสียภาษีอ่ะ
1.ดอกเบี้ยสลากออมสินหรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
2.ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ข้อ 2 (22) กฎกระทรวง 126
3.กรณีดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยและผลตอบแทนจากเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลาม ต้องไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ม.42(8)(ค) ประกอบประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 55) ถ้าดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทในปีไหน ดอกเบี้ยออมทรัพย์ปีนั้นก็ต้องเสียภาษีนับจากบาทแรกเลยในอัตรา 15% ครับ และที่สำคัญจะดูว่าเกิน 20,000 บาทหรือไม่ นับรวมดอกเบี้ยออมทรัพย์ทุกบัญชี ทุกธนาคารนะ และเงินฝากประเภทนี้แหละครับที่ธนาคารทุกแห่งจะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ทางกรมสรรพากรเป็นผู้คำนวณและเก็บภาษี หากเกินกว่าที่กำหนด กรมสรรพากรก็จะหักภาษีก่อนจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร 15% หากไม่เกินที่กำหนด ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเต็มจำนวน
เราในฐานะเจ้าของบัญชีมีสิทธิ์ “ไม่ให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก” แก่กรมสรรพากรได้ โดยต้องแจ้งความประสงค์แก่ทุกธนาคารที่มีบัญชีเงินฝาก แต่ดอกเบี้ยเราจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไม่สนใจว่าดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทหรือไม่ แต่เราสามารถนำรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากยื่นในแบบ ภ.ง.ด. 90 เพื่อขอรับภาษีคืนได้
4.ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และหากผู้ฝากเงินไม่ทราบวัน เดือน ปีเกิด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ข้อ 2(69) กฎกระทรวง 126
5.ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
6.ดอกเบี้ยเงินฝากให้สำหรับการฝากประจำแบบผูกพัน 2 ปีที่ได้จากธนาคารในประเทศ และสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ในประเทศ โดยต้องฝากเท่ากันทุกเดือนเป็นเวลา 24 เดือน ยอดเงินฝากไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
สำหรับรายการที่ 4 – 6 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 64) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการฝากเงินในประเทศ กำหนดไว้ว่า
• ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารหรือดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้ต้องเปิดบัญชีเงินฝากขึ้นใหม่โดยเฉพาะแยกต่างหากจากบัญชีเงินฝากประเภทอื่น และต้องมีบัญชีเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นี้เพียงบัญชีเดียว
• การฝากเงินดังกล่าวจะต้องเป็นการฝากภายในระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละเดือน จะขาดการฝาก หรือฝากไม่ครบตามวงเงินที่กำหนด หรือฝากล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดทุกกรณีรวมกันเกินสองเดือนไม่ได้
• ชื่อบัญชีเงินฝากจะต้องเป็นชื่อของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยนั้น แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
• กรณีถอนเงินฝากก่อนครบกำหนดจ่ายคืนเงินฝาก จะหมดสิทธิ์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยดังกล่าว
จะดูว่าใครเป็นผู้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก สรรพากรมีหลักเกณฑ์ดังนี้
• หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย ระบุ “ชื่อผู้มีเงินได้ เพื่อ….หรือโดย…..” ซึ่งมิใช่ผู้เยาว์ บุคคลที่มีสิทธิฝากถอนเงินได้นั้นเป็นผู้มีเงินได้ที่มีสิทธินำเงินได้นั้นไปยื่นในนามของตน เช่น กรณีชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากเพื่อ ก.” ผู้ที่ได้รับเงินได้ดอกเบี้ยคือ ก. หรือ กรณีชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากโดย ข.” ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยคือ ข.
• หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายต้องเป็นชื่อของผู้มีเงินได้ หากเป็นชื่อ-นามสกุลร่วม “…..หรือ…..” “…..และ…..” หรือ “…..และ/หรือ…..” ถือเป็นเงินได้ของคณะบุคคล
• ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันหรือแยกกัน ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี
• ในกรณีที่ความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล (ซึ่งจะไม่ได้รับประโยชน์สำหรับเงินฝากที่ได้ประโยชน์ทางภาษี)
• ในกรณีบิดาและหรือมารดาและบุตรผู้เยาว์เป็นผู้ฝากเงินร่วมกันให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วแต่กรณี หรือเป็นเงินได้ของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน
• กรณีบิดาและหรือมารดาเป็นผู้ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ (บุตรผู้เยาว์หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วย)
• ดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากตั๋วเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ระบุชื่อบุตรผู้เยาว์ เงินได้นั้นเป็นของบุตรผู้เยาว์ (บุตรผู้เยาว์หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วย)
• ดอกเบี้ยเงินฝากของบุตรผู้เยาว์ บุตรสามารถนำเงินได้ไปยื่นแบบในนามของบุตร แต่การลงชื่อในคำร้องขอคืนภาษี ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้ดำเนินการแทน โดยหากพ่อแม่ของบุตรผู้เยาว์อยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี พ่อจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม หากพ่อแม่อยู่ร่วมกันไม่เต็มปีภาษี ให้พิจารณาว่า ผู้ใดเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม