นักลงทุนยิ้มออกเศรษฐกิจโต หนุนกำไรกลุ่มธนาคารโตเกินคาด เอ็นพีแอลลด นายแบงก์เตือนภาระตั้งสำรองยังมีต่อเนื่องตลอดปี 2561 รับมือมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เป็นผู้นำในการเปิดเผยผลกำไรสุทธิไตรมาส 1/2561 ภาพรวมออกมาดีเกินคาด มีกำไรทั้งสิ้น 5.4หมื่นล้าน ส่งผลให้หุ้นของธนาคารส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
นายธนาคาร กล่าวว่า กำไรของแบงก์ที่ออกมาดีเหนือความคาดหมาย เนื่องจากธุรกิจได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อขยายตัว การแก้ปัญหาหนี้ดีขึ้น ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) และหนี้จัดชั้นลดลง
อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิในงวด9เดือนที่เหลืออาจจะไม่เติบโตมากอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากภาพรวมของธนาคารยังคงมีภาระตั้งสำรองสูงอย่างต่อเนื่องตลอดปีนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฎิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9ที่จะเริ่มใช้ในปี2562
“ เอ็นพีแอลของแบงก์น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สินเชื่อเอสเอ็มอีโดยรวมดีขึ้น แม้ว่ารายเล็กบางรายจะตายไป หลายรายยังไม่ฟื้น แต่มีรายใหม่เข้ามาขอใช้สินเชื่อมากขึ้น “นายแบงก์กล่าว
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กำไรสุทธิไตรมาสแรกของธนาคารลดลง 4.6% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดในการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าบนระบบดิจิทัล และมีการลงทุนด้านดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร
ด้านธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิ 9,005 ล้านบาท เติบโต ประมาณ จากกำไรสุทธิ 8,304 ล้านบาทในไตรมาส 1/2560 มูลค่าตามบัญชีเท่ากับ 212.41 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.96 บาท จากสิ้นปี 2560
กำไรที่ดีขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 17,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2 % ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 2.34% รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 14,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8%
“ ธนาคารกรุงเทพยังคงแนวทางการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตและความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน”
บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำเพียง”ถือ”สำหรับหุ้น SCB ให้ราคาเป้าหมาย 155 บาท และคงประมาณการกำไรในปีนี้ที่ 4.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% แม้ไตรมาส 1 เอ็นพีแอลมีสัญญาณที่ดี เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.4%จากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่มาจากลูกค้ารายใหญ่ ทำให้อัตราดอกเบี้ยสุทธิลดลงจาก 3.28% เหลือ 3.18%
นักวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัสแนะนำ”ซื้อ” SCB “เนื่องจากราคาหุ้นปรับตัวลงไปมาก สะท้อนปัจจัยต่างๆไปแล้ว แต่เชื่อว่าทิศทางค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และค่าใช้จ่ายลงทุนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สร้างแรงกดดันต่อกำไรทั้งปี 2561 ให้หดตัวลง โดยมีสินเชื่อรายใหญ่และรายย่อย เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก
“อัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลงต่ำกว่าคาด จะส่งผลกระทบต่อคาดการณ์รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ ลดลง 3.0% จากปัจจุบันที่ 1.01 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ ลดลง 5.8% จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 4.20 หมื่นล้านบาท และ มูบค่าเหมาะสม ปี 2561 ลดลง 0.64% จากปัจจุบันที่ 156 บาท”บล.เอเซียพลัสระบุ