GUNKUL ควงพันธมิตรเปิดตลาด แพลตฟอร์มซื้อ-ขายพลังงาน

HoonSmart.com>>”กันกุลเอ็นจิเนียนิ่ง” จับมือพันธมิตร ADVANC นำระบบ Mobile ID ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยี Block Chain  และเอสซีบี เท็นเอ็กซ์  พัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน เตรียมเปิดให้ทดลองใช้ แพลตฟอร์มใหม่ VOLT Energy Marketplace เลือกจับคู่กับผู้ค้าโซลาร์กับลูกค้าที่สนใจ ในรูปแบบ B2C  ต่อยอดเป็น Marketplace ในรูปแบบ B2B  ส่วนผลงานกันกุลปีนี้รายได้โต 15% ปิดดีลซื้อโซลาร์เวียดนาม 2 โครงการ ปีหน้าอีก 1 แห่ง รวม 164 MW 

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ร่วมมือกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (KUNKUL) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจร และ บริษัท เอสซีบี เท็นเอ็กซ์ บริษัทโฮลดิ้งในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ เดินหน้าโครงการนำร่อง (Sandbox) ในการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน PEER-TO-PEER ENERGY TRADING PLATFORM เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ราคาถูก ครั้งแรกในไทย

น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียนิ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า บริษัทจัดตั้งหน่วยงานดูแลสายงานที่เกี่ยวข้องด้านนวัตกรรม “GUNKUL SPECTRUM” เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านพลังงานกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน มองว่าพลังงานไม่ใช่เรื่องไกลตัว ควบคู่กับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น โดยธุรกิจของ GUNKUL SPECTRUM มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้าทั่วไป ซึ่งเป็นการทำตลาดในรูปแบบ B2C (Business-to-Consumer) ขยายจากเดิมที่เน้นการทำตลาดในรูปแบบ B2B (Business-to-Business) เป็นหลัก โดยมีผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการเจาะตลาดใหม่

ด้านน.ส.นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ GUNKUL เปิดเผยว่า บริษัทฯได้จับมือกับพันธมิตรที่มองเห็นศักยภาพในอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ และเข้าใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องและตอบโจทย์พฤติกรรมผู้ใช้พลังงานในอนาตต

ทั้งนี้ได้สิทธิ์ในการทำโครงการนำร่อง (Sandbox) ร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน (PEER-TO-PEER Energy Trading Platform) โดยได้ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในการนำระบบ Mobile ID ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยี Block Chain สนับสนุนการทำงานของ ตลาดซื้อขายพลังงาน (Energy Trading Market) เป็นครั้งแรก ในอนาคตจะให้ประชาชนสามารถเข้ามาซื้อขายไฟฟ้าได้อย่างเสรี คาดว่าสิ้นปี 2563 จะเริ่มทดลองซื้อขายไฟฟ้าผ่ายระบบข้ามภูมิภาค ใช้ระยะเวลาทดลองประมาณ 1 ปีเศษ เพื่อทดสอบความเสถียรภาพ และความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าของแต่ละฤดู

ขณะที่พันธมิตรอีกหนึ่งรายคือ เอสซีบี เท็นเอ็กซ์  มองว่าอุตสาหกรรมพลังงานมีศักยภาพ และมีความน่าสนใจที่จะเติบโตไปในหลากหลายรูปแบบ ทำให้มีการจับมือกันเพื่อศึกษาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้โปรดักส์ออกสู่ผู้ใช้ มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน GUNKUL SPECTRUM มี 1 ผลิตภัณฑ์ ที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมการผลิตออกมาในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้งาน คือ VOLT Energy Marketplace แพลตฟอร์มแมตช์ชิ่ง ผู้ติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป กับลูกค้าที่สนใจได้โดยตรงเริ่มต้นในรูปแบบการตลาด B2C และในอนาคตสามารถต่อยอดเป็น Marketplace แบบครบวงจรในรูปแบบ B2B ได้ ที่จะช่วยสร้าง Ecosystem ของผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ใช้งาน

ส่วนภาพรวมธุรกิจของ GUNKUL น.ส.โศภชา กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปี 2563 จะเติบโตได้ดีกว่าครึ่งแรก ที่ได้รับผลกระทบจากลมที่ไม่มากพอ ทำให้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อย โดยปรับลดเป้าหมายรายได้ทั้งปีจากเดิมคาดว่าจะโต 20% เหลือ 15% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท

ส่วนการลงทุน บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาปิดดีลโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนาม 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตเป็น 50 เมกะวัตต์(MW) ,50 MW และ 64 MW รวมกำลังการผลิตรวม 164 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนมาจากกระแสเงินสด 30% และ 70% เงินกู้จากสถาบันการเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุป 2 โครงการในไตรมาส 4 และอีก 1 โครงการประมาณต้นปี 2564