โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ช่วงนี้มีเรื่องหนี้เข้ามาทุกวัน เป็นสัญญาณใกล้ตัวที่สังเกตง่ายๆถึงภาวะเศรษฐกิจว่าจะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรต่อไปดี ก็คงต้องบอก “อย่าประมาท” มีงานทำอยู่ ก็รักษางานที่ทำไว้ให้ดี จะใช้จ่ายอะไร ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใช้ อะไรที่อยากซื้อ ถึงจำเป็น แต่ถ้ารอได้ เก็บเงินใช้ในสิ่งที่จำเป็นกว่าดีกว่า ทรัพย์สินอะไรที่ไม่จำเป็น ขายได้ก็ขายไปเลย เปลี่ยนเป็นเงินมาใช้ดีกว่า อย่างผมเองตอนนี้ก็ขนเอาหนังสือที่ซื้อมาเต็มบ้านออกขาย ได้เงินบ้างดีกว่าทิ้งให้รกบ้าน
คนที่มีหนี้ ก็ต้องรีบศึกษา นโยบายแบงค์ชาติที่ขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ และต้องศึกษากฎหมายเกี่ยวกับหนี้ด้วยเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและเหมาะสม
ตัวอย่างหนึ่งที่การศึกษากฎหมายน่าจะได้ประโยชน์ คือ การคืนรถไฟแนนซ์ เมื่อเราผ่อนไม่ไหว การที่เราซื้อรถเงินผ่อนกับไฟแนนซ์โดยทำสัญญาผ่อนส่งเป็นงวดๆ เช่น 60 งวด เป็นต้น สัญญานี้เรียกว่า “เช่าซื้อ” ซึ่งเป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษ ที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือผู้เช่าซื้อ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทุกเมื่อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๕๗๓ บัญญัติว่า “มาตรา ๕๗๓ ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง” คือ เมื่อคืนรถไปแล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีก
ซึ่งกฎหมายข้อนี้ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทำให้เวลาผ่อนไม่ไหว ก็มักจะเลือกวิธีหยุดส่งค่างวดรถ พอขาดส่งค่างวดรถติดต่อกัน 3 งวด และรอให้ไฟแนนซ์มายึดรถยนต์กลับคืนไป เพราสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้นั้น ผู้เช่าซื้อต้องตกเป็นผู้ผิดนัด 3 งวดติดกันและผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อด้วยเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน
เมื่อไฟแนนซ์ยึดรถได้ ก็จะนำรถยนต์ไปขายทอดตลาด เอาเงินมาชำระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ หากนำรถยนต์ไปขายทอดตลาด แล้วได้เงินไม่เพียงพอต่อมูลหนี้ตามสัญญา ไฟแนนซ์ก็จะมาฟ้องผู้เช่าซื้อให้รับผิดชอบส่วนต่างที่ยังขาด (เขาเรียกส่วนต่างนี้ว่า ค่าขาดราคา) ซึ่งผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบกับค่าเสียหายในส่วนต่างที่ขาดนั้น โดยปกติแล้วไฟแนนซ์จะต้องการเงินมากกว่ารถ ทำให้มักจะขายรถไปในราคาถูกกว่าราคาตลาดมากๆ เพราะไฟแนนซ์มั่นใจว่าอย่างไรก็ตามผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบในค่าขาดราคาอยู่ดี จนตอนหลังได้มีประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ออกมาเพื่อคุ้มครองผู้เช่าซื้อ โดยผู้เช่าซื้อจะไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างจากการคืนรถที่ถูกยึด ถ้าไฟแนนซ์ปฎิบัติไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฎิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ข้อ (5) ซึ่งมี 2 ข้อ หลักๆ คือ
1. ต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน(ถ้ามี) เป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 7 วัน
2. ขายโดยวิธีประมูล หรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม
เเต่หากไฟแนนซ์ปฎิบัติถูกต้องครบถ้วนทั้ง 2 หลักเกณฑ์เเล้วหนี้ไม่พอชำระ ไฟแนนซ์ก็สามารถเรียกส่วนต่างราคาจากลูกหนี้ได้อีก
แต่ถ้าเป็นอีกกรณี คือ ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ไปคืนไฟแนนซ์เอง ก่อนที่จะผิดนัดครบ 3 งวด หรือ การที่ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์คืนไฟแนนซ์ และไฟแนนซ์ยอมรับรถยนต์ดังกล่าวคืน ถือว่าสัญญาเช่าซื้อระงับสิ้นสุดลง เพราะคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันเองด้วยการส่งมอบรถยนต์กลับคืนเจ้าของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 573 ที่กล่าวไปแล้ว เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือ ไฟแนนซ์ไม่ได้มายึดรถยนต์กลับไปเอง หากไฟแนนซ์นำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินไม่เพียงพอกับยอดหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ค่าเสียหายส่วนนี้ ผู้เช่าซื้อไม่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น จะรับผิดก็แค่ค่าเช่าซื้อค้างชำระแต่ละงวดที่เรายังไม่ได้ชำระไฟแนนซ์ก่อนวันที่จะนำรถยนต์ส่งมอบคืนเท่านั้น แปลว่าผู้เช่าซื้อรับผิดชอบแค่ค่าเช่าซื้อที่ยังค้างอยู่ก่อนส่งรถคืนเท่านั้น
แต่เมื่อเรานำรถยนต์ส่งมอบคืนให้กับไฟแนนซ์เอง ส่วนใหญ่บริษัทไฟแนนซ์ก็จะใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องเรียกค่าส่วนต่างจากผู้เช่าซื้อ โดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อที่เลิกกันไปแล้วให้ผู้เช่าซื้อรับผิดส่วนต่างที่ยังค้างชำระ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ให้ความสำคัญ ไม่ยอมไปศาล ไม่หาทนายไปสู้คดี และไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับไฟแนนซ์ที่ศาลเสียเอง ทำให้ต้องเสียเงินโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้เช่าซื้อ ที่จะแต่งตั้งทนายเข้าไปสู้คดี เพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบในภาระหนี้ส่วนต่างที่เกิดจากการขายทอดตลาด แต่ถ้าเราไม่แต่งตั้งทนายความเข้าไปสู้คดี ศาลอาจจะพิพากษาตามฟ้องของโจทก์ หรือในกรณีที่เราไปตกลงยินยอมชำระหนี้ โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาล ก็จะต้องบังคับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความครับ ค่าทนายถูกกว่าหนี้ที่ต้องจ่ายเยอะ อย่าให้เป็นทำนอง “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ครับ
ตัวอย่างคำพิพากษาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14324/2558
จำเลยเป็นฝ่ายเริ่มต้นติดต่อกับโจทก์เพื่อคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ แสดงให้เห็นจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เมื่อโจทก์ได้รับการติดต่อก็ตกลงและนัดหมายรับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปคืนโดยมอบหมายให้ ส. ตัวแทนโจทก์ การที่จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ ส. จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อด้วยการส่งมอบทรัพย์คืนแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันนับแต่วันดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
เน้นย้ำนะครับ เราคืนรถโดยไม่ต้องรับผิดชอบ เราต้องไม่ผิดสัญญา คือจ่ายครบทุกงวด อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ จากนั้นก็บอกเลิกสัญญาโดยการเรียกให้ไฟแนนซ์มารับรถคืน ตามกฎหมายถ้ายังไม่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ หรือไฟแนนซ์ยังไม่บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องมีหนังสือบอกกล่าวเช่นกันพร้อมกับส่งมอบรถยนต์คืนผู้ให้เช่าซื้อด้วย การที่ส่งมอบรถยนต์คืนอย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ แต่ถ้าหากว่าผู้ให้เช่าซื้อรับรถยนต์ที่ผู้เช่าซื้อนำมาส่งมอบคืนโดยไม่ติดใจกับการบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือย่อมถือได้ว่าคู่กรณีตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายมิได้ถือเอาการบอกเลิกสัญญาตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อเป็นสำคัญ
แต่ถ้าไฟแนนซ์รับรถคืนไว้โดยบังคับให้เราเขียนบันทึกข้อตกลงรับผิดในส่วนต่างไว้ เราก็ไม่ต้องเขียน หรือถ้าเขียนก็ให้ระบุข้อยกเว้นเอาไว้ว่าจะไม่รับผิดชอบในส่วนต่างที่ขาด หากไฟแนนซ์ฟ้องมา ก็หาทนายความไปสู้คดีครับ
แต่ถ้าผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและไฟแนนซ์บอกเลิกสัญญาแล้ว ไม่ว่าจะเอารถไปคืนไฟแนนซ์เองหรือปล่อยให้ไฟแนนซ์มายึด จะต้องรับผิดชอบส่วนต่างที่ขาดทุกกรณีครับ
แต่ถ้าเกิดขาดส่งไปไม่ถึง 3 งวด และตอนหลังชำระคืนไฟแนนซ์ครบ และผ่อนต่อมาเรื่อยๆ จะสามารถคืนรถตามมาตรา 573 ได้รึเปล่า เรื่องนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2330/2558 ดังนี้ครับ
สัญญาเช่าซื้อข้อ 12 กำหนดว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อได้กลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าซื้อและ/หรือบอกเลิกสัญญาได้ทันที ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิดำเนินการตามข้อสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับชำระค่าเช่าซื้อในงวดที่ 3 และงวดที่ 4 แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามข้อสัญญานี้ หนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ไม่ถือเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้น สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีผลผูกพันอยู่ การที่ ช. ผู้รับจ้างในการติดตามรถที่เช่าซื้อรถของโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายในวันที่ยึดรถที่เช่าซื้อคืน คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องเรียกค่าขาดราคาส่วนที่ขายทรัพย์ที่เช่าซื้อไป หรือราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาข้อ 15 ซึ่งระงับไปแล้วไม่ได้ แม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 50,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 260,987.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้พิพากษาตามศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงต้องหักต้นเงิน 50,987.20 บาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ออก ที่จำเลยทั้งสี่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในทุนทรัพย์ 260,987.20 บาท เป็นการชำระค่าขึ้นศาลเกินมา ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่จำเลยทั้งสี่
อ่านประกอบ