หุ้น TMB ถูกทุบซะเละ ตื่นข่าวแบงก์ถูกลูกหนี้ปลอมเอกสารกู้เงินถึง 3,400 ล้านบาท แบงก์ทหารไทยชี้แจงได้รับผลกระทบแค่ 600 ล้านบาท ตั้งสำรองเต็มมานานแล้ว ส่วน วงเงิน 3,400 ล้านบาทเกิดจากการยืมหลายธนาคาร ปปง.อายัดทรัพย์แล้ว
วันที่ 15 มีนาคม 2561 นักลงทุนพร้อมใจกันทิ้งหุ้นธนาคารทหารไทย (TMB)ทุบราคาหุ้นดิ่งลงเหวลึกสุด 2.68 บาท ก่อนจะฟื้นขึ้นมาปิดที่ระดับ 2.78 บาท ลดลง 0.06 บาท คิดเป็น 2.11% ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายมากถึง 2,035 ล้านบาท เนื่องจากมีกระแสข่าวลูกหนี้ปลอมแปลงเอกสารการขอสินเชื่อจากแบงก์ทหารไทยวงเงิน 3,400 ล้านบาท
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย ชี้แจงกรณีที่มีข่าวลูกหนี้ปลอมแปลงเอกสารการขอสินเชื่อวงเงิน 3,400 ล้านบาทว่า ธนาคารทหารไทยได้รับผลกระทบรวมราว 600 ล้านบาท โดยลูกหนี้ที่ปลอมแปลงเอกสารได้ยื่นเอกสารปลอมในการขอสินเชื่อหลายธนาคาร วงเงินรวมราว 3,400 ล้านบาท ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับหลายธนาคารตั้งแต่ปี 2554-2556 โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560 คณะกรรมการธุรกรรมของคณะกรรมการป้องและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้มีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด กับพวกไว้ชั่วคราว มูลค่า 62 ล้านบาท และได้มีการตั้งสำรองฯเต็มไปทั้งหมดหลายปีมาแล้ว
ลูกค้ามีพฤติการณ์ขอสินเชื่อจากธนาคาร อ้างว่าเพื่อซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ และ ขอให้โอนเงินสินเชื่อไปต่างประเทศ โดยอ้างว่าเป็นการชำระค่าซื้อขายสินค้า ต่อมาธนาคารพบว่าบริษัทผู้ขายสินค้าและบริษัทผู้ชำระเงินค่าสินค้า มีกรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เป็นคู่ค้าของบริษัท และมีการยื่นเอกสารปลอมในการขอสินเชื่อ จนเป็นเหตุให้ธนาคารหลายธนาคารได้รับความเสียหาย ตั้งแต่ปี 54-56 วงเงินรวมราว 3,400 ล้านบาท ตามการประสานงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยที่ประกาศคำสั่งอายัดทรัพย์ระบุรายชื่อบริษัทเอกชนรายอื่นที่ถูกอายัดทรัพย์นอกเหนือจากบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด ไว้หลายแห่งรวม 25 บริษัท
“ทหารไทยได้รับผลกระทบ 600 ล้านบาทจาก วงเงินสินเชื่อก่อนการขายและหลังการขาย จำนวน 300 ล้านบาท และวงเงินซื้อขายเงินตราต่างประเทศจำนวน 300 ล้านบาท โดยมีหลักประกัน ซึ่งหลังจากนั้นธนาคารได้มีการตรวจสอบและพบความผิดปกติของการนำวงเงินสินเชื่อใช้ ทำให้ธนาคารมีการระงับการใช้วงเงินสินเชื่อดังกล่าวไป และได้ฟ้องบริษัท เอพีเอส คล็อค ซีสเต็มส์ จำกัด และกรรมการที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม ฉ้อโกงและนำปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ โดยได้รับอนุญาตไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างอื่นหรือนำไปใช้ผิดเงื่อนไขในการได้ไป ซึ่งปัจจัยชำระเงินต่างประเทศ “นายปิติกล่าว