SCB ยืนยันไม่มีปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น พร้อมเลื่อนลงทุนบางส่วนไปปีหน้า ลดแรงกดดัน “ผลกำไร” เดินหน้าร่วมมือ “สมิติเวช” เจาะลูกค้าเฟริ์สคลาสโรงพยาบาล บริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล
หลังจากนักลงทุนผิดหวังผลกำไรในช่วงไตรมาส 1 ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เนื่องจากทางธนาคารมีค่าใช้จ่ายการลงทุนเพิ่มขึ้น และมองว่าผลกำไรในช่วงไตรมาส 2 มีแนวโน้มลดลงอีกเช่นกัน เพราะธนาคารยังมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูง ประกอบกับความกังวลว่าหนี้เสียของธนาคารอาจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้น SCB ลดลงต่ำสุดในรอบ 25 เดือนเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา
นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กรณีราคาหุ้น SCB เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ลดลงต่ำสุดในช่วง 25 เดือน โดยยืนยันว่า ธนาคารไม่ได้มีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ธนาคารฯตั้งสำรองหนี้ฯ 5,000 ล้านบาท และไตรมาส 2 เอ็นพีแอลมีแนวโน้มลดลงด้วย ดังนั้น เมื่อประกาศงบไตรมาส 2 ในเดือนก.ค.นี้ ก็จะเห็นเองว่าตัวเลขเป็นอย่างไร
“เอ็นพีแอลเราต่ำว่าแบงก์อื่น ปีที่แล้วเราตั้งสำรองหนี้ฯ 2 หมื่นล้าน ในขณะที่คนอื่นตั้ง 4 หมื่นล้านบาท และไตรมาสแรก เราตั้งสำรองฯตามปกติ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับปีที่แล้ว และตั้งแต่ปลายไตรมาส 1 เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ เอ็นพีแอลไม่ได้เพิ่มและยังลดลงด้วย พอประกาศงบในเดือนหน้า ก็จะเห็นว่าตัวเลขเป็นอย่างไร”นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ ยืนยันว่า สืนเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับเอกชนต่างๆ เช่น วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง (WEH) ไม่มีความเสี่ยงเป็นหนี้เสีย เนื่องจากเป็นการปล่อยกู้ที่พิจารณาศักยภาพของโครงการ เช่นเดียวกับการปล่อยกู้ให้บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ทางบริษัทยังคงชำระหนี้คืนตามปกติ ส่วนความกังวลที่บริษัท คิงพาวเวอร์ ที่อาจไม่ชนะการประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีนั้น ก็จะไม่กระทบต่อการคืนหนี้ เนื่องจากคิงพาวเวอร์มีกระแสเงินสดเพียงพอ
ส่วนความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่จะมีผลกระทบต่อผลประกอบการปีนี้นั้น นายอาทิตย์ กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับสมดุลทั้งในแง่รายได้และรายจ่าย ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ โดยปีที่แล้วธนาคารค่าใช้จ่าย 4.7 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายปกติ 4.3 หมื่นล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 4,000 ล้านบาท
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังมีภาระในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลง (ทรานฟอร์เมชั่น) และการลงทุนจะจบในปีนี้ แต่เนื่องจากมีความกังวลว่าค่าใช้จ่ายการลงทุนปีนี้จะสูง ธนาคารจะชะลอการลงทุนบางส่วนออกไปเป็นปีหน้า
“เรามีชื่อเสียงในเรื่องต้นทุนต่ำ วันนี้จะทำให้ต้นทุนต่ำแบบเดิมก็ได้ คือ ไม่ต้องลงทุนเลย ซึ่งปีที่แล้วเรามีค่าใช้จ่ายปกติไม่รวมทรานฟอร์เมชั่นอยู่ที่ 4.3 หมื่น เป็นค่าใช้ทรานฟอร์มเมชั่น 4,000 ล้านบาท และปีนี้ภาพจะออกมาคล้ายๆกัน เราจะมีงบลงทุนที่ยังไม่จบ และจะจบปีนี้ แต่เนื่องจากนักลงทุนกังวลเรื่องงบลงทุน เราก็พยายามชะลอบ้าง ดึงไว้บ้าง แต่การลงทุนใหญ่ๆจะทำให้เสร็จในปีนี้”นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ กล่าวว่า การลงทุนจะส่งผลดีต่อ SCB ในระยะยาว เช่น การลงทุนใน SCB easy ที่ทำให้ตอนนี้มีลูกค้ามาใช้บริการ 7 ล้านคน จากเดิม 2 ล้านคน และเป็นลูกค้าแอคทีฟ 4 ล้านคน ขณะที่ธนาคารยังลงทุนเรื่องบิ๊กดาต้า และเอไอ โดยเฉพาะเอไอที่ทำหน้าที่วิเคราะห์เพื่อปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต รวมถึงการลงทุนเทคโนโลยีที่ และเปลี่ยนทักษะของพนักงาน เพื่อลดต้นทุนการดำเนินการขององค์การ โดยไม่ต้องเลย์ออฟพนักงาน
“เราเดินทางโรดโชว์ต่างประเทศ เขาก็ฟังและเชื่อ แต่เนื่องจากเรายังมีแรงกดกันเรื่องรายได้ และกำไรอยู่ เขาก็รอดูจนกว่าจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ลงทุนนั้น จะออกดอกออกผลจริง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เรื่องการลงทุนก็ระวังตลอด เราแคร์ความรู้สึกผู้ลงทุน”นายอาทิตย์กล่าว
นายอาทิตย์ ยังกล่าวว่า วันนี้ (26 มิ.ย.) SCB ได้ร่วมกับกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ในเครือบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เปิด The First Lounge & SCB Investment Center แห่งแรกในประเทศ ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เพื่อให้บริการลูกค้ากลุ่มเฟริ์สคลาสของโรงพยาบาลสมิติเวช และลูกค้าเวลธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นสมาชิก “SCB Private Banking” และ “SCB First” ที่มาใช้บริการกับทางโรงพยาบาล
สำหรับ The First Lounge & SCB Investment Center เป็นพื้นที่ที่ออกแบบในสไตล์กลาสเฮาส์ ภายในแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน ได้แก่ 1.โซนรับรองพิเศษด้านสุขภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เช่น นัดหมายแพทย์ พบแพทย์ จ่ายเงินและรอรับยา 2.โซน SCB Investment Center ซึ่งเป็นศูนย์บริหารความมั่งคั่งที่รวมความรู้และให้คำแนะนำด้านการลงทุน รวมถึงบริหารความมั่นคั่งส่วนบุคคล โดยศูนย์แห่งนี้ป็น 1 จากทั้งหมด 7 ศูนย์ทั่วประเทศ แต่เป็นศูนย์แรกที่ตั้งในพื้นที่โรงพยาบาล
และ 3.โซนเอาท์ดอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง สำหรับจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับสมาชิก เช่น กิจกรรมดนตรีในสวน หรือจัดเวริ์กช้อปต่างๆ อาทิ เครื่องสุขภาพและการลงทุน เป็นต้น
นอกจากนี้ SCB โดยบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส และโรงพยาบาลสมิติเวชร่วมกันจัดทำแอปพลิเคชัน Samitivej Plus สำหรับให้บริการลูกค้า ตั้งแต่การดูข้อมูลแพทย์ การนัดหมายออนไลน์ การแจ้งคิวเรียลไทม์ และการชำระเงินออนไลน์ พร้อมทั้งให้บริการ Samitivej FastPay เพื่อให้ลูกค้าชำระเงินได้ง่ายด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด ณ จุด FastPay Station หรือชำระเงินด้วยบัตรเครดิตผ่านแอปฯ Samitivej Plus โดยผู้ชำระเงินผ่านทั้ง 2 ช่องทาง จะได้รับส่วนลด 10% สำหรับค่ายา ค่า X-Ray และ Lab
ด้านน.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คาดว่า รายได้จากค่าธรรมเนียมปี 2561 จะลดลงประมาณ 6-8% จากปีก่อน หลังจากมีโปรโมชั่นยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์ซึ่งจะเริ่มส่งผลกระทบในไตรมาส 2 ปี 2561 เต็มไตรมาสเป็นไตรมาสแรก โดยธนาคารมีแผนการบริหารต้นทุ นเพื่อรักษาผลประกอบการให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อในครึ่งหลังปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าจะเติบโต 12% โดยได้รับผลบวกจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการขยายการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากขึ้นในช่วงปลายปีนี้
น.ส.ขัตติยา กล่าวถึงการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ในปี 2562 โดยเชื่อว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบเล็กน้อย ซึ่งปีนี้ธนาคารจะตั้งสำรองในระดับทรงตัวจากปีก่อน จากก่อนหน้านี้มีการทยอยตั้งสำรองอย่างต่อเนื่องใน 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อรักษาระดับกำไรระยะยาว
สำหรับส่วนการซื้อขายหุ้น SCB วันนี้ (26 มิ.ย.) ทันทีที่เปิดการซื้อขายในภาคเช้าราคาหุ้นอยู่ที่ 123 บาท ลบ 1 บาท จากนั้นมีแรงซื้อกลับเข้ามา ผลักดันให้ราคาเพิ่มเป็น 125.50 บาท บวก 1.50 บาท จากนั้นราคาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 123.50-125 บาท และปิดที่ 124.50 บาท บวก 0.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.4%
ขณะที่ราคาหุ้น KBANK ปิดที่ 193 บาท บวก 3 บาท หรือเพิ่มขึ้น 1.58% โดยระหว่างวันราคาหุ้นลงไปต่ำสุดที่ 188.50 บาท และสูงสุดที่ 194 บาท