HoonSmart.com>> ธนาคารกรุงศรีฯ คาดเงินบาทซื้อขายกรอบ 30.75-31.10 บาท/ดอลลาร์ มองบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แม้สินทรัพย์เสี่ยงผันผวนสูง
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.75-31.10 บาทต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 30.90 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือน หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตามคาดทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.1 หมื่นล้านบาท และ 4.8 พันล้านบาท ตามลำดับ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า นักลงทุนจะติดตามสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่สูงขึ้นในต่างประเทศ รวมถึงการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร หลังจากสหรัฐฯ ยืนยันว่าข้อตกลงการค้ากับจีนยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวสร้างความสับสนให้กับตลาดในช่วงสั้นๆ อนึ่ง เราประเมินว่าความเปราะบางของการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะช่วยชะลอแรงขายดอลลาร์ในระยะนี้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อค่าเงินบาทอาจถูกจำกัดหากราคาทองคำยังคงไต่ระดับสูงขึ้น ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
สำหรับปัจจัยในประเทศ กนง.คงดอกเบี้ยด้วยมติเอกฉันท์ แต่ลดคาดการณ์จีดีพีปี 2563 เป็นหดตัว 8.1% จากเดิมคาดว่าติดลบ 5.3% และปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปี 2564 เป็น 5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกปี 2563 เป็นหดตัว 10.3% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.8% พร้อมประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพียง 1 ล้านคน ทำให้ทั้งปีร่วงลงราว 80% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังแต่ยังคงหดตัว ทางด้านเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่งแต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจาก COVID-19
นอกจากนี้ ทางการกังวลต่อเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมทั้งประเมินความจำเป็นของมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม จากท่าทีโดยรวมเราคาดว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนยอดส่งออกและนำเข้าเดือนพฤษภาคมที่หดตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ในอัตรารุนแรงถึง 22.5% และ 34.4% ตามลำดับ สะท้อนความไม่แน่นอนสูงผนวกกับอุปสงค์ภายในที่อาจทรุดตัวยาวนานกว่าคาด ทำให้มองว่าการเยียวยาที่ตรงจุดและประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลังการเงินและเครื่องมือที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยนโยบายจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการพยุงตลาดแรงงานในเวลานี้