โดย…ฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นับถอยหลังเหลืออีกเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น กับโอกาสในการซื้อ SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน หรือ SSFX (ซื้อได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2563) ซึ่งเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว มีเป้าหมายการใช้เงินก้อนในอีก 10 ปีข้างหน้า และมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มจากวงเงิน SSF ปกติ และกลุ่มเกษียณอื่น ๆ โดยสามารถลงทุนได้สูงถึง 200,000 บาท
SSFX ทุกกองจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ถูกกำหนดให้ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เช่น หุ้น หน่วยลงทุนของกองทุนอีทีเอฟ (ETF) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ตั้งแต่ 65% ขึ้นไปของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) ส่วนที่เหลืออีกไม่เกิน 35% นั้น แต่ละกองสามารถลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ได้
สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุนกองทุน SSFX กองไหนดี ลองพิจารณา 3 คำถามนี้ก่อน เพื่อช่วยเลือก SSFX ที่ใช่สำหรับตัวเอง
1. สินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้หรือไม่
ผู้ลงทุนควรศึกษาว่าการลงทุนใน SSFX นั้น มีเงื่อนไขและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้หรือไม่จากสินทรัพย์ที่กองลงทุน ซึ่งโดยหลักการทั่วไปหากกองทุนมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น มักทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย ขณะที่กองทุนที่มีการผสมสินทรัพย์การลงทุนอื่น ๆ ในพอร์ตนอกเหนือจากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ยังมีการกระจายลงทุนในหุ้นกู้ เงินฝาก รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก (เช่น ทองคำ น้ำมัน ตราสารอนุพันธ์) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของกองได้
การลงทุนของ SSFX แม้ว่าจะมีเงื่อนไขให้ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV ก็อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามอัตราส่วนระหว่างการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนกับสินทรัพย์อื่น คือ (1) กลุ่มที่เน้นลงทุนในหุ้น โดยกองทุนประเภทนี้มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนตั้งแต่ 80% ขึ้นไปของ NAV และ (2) กลุ่มที่มีการกระจายการลงทุนในทรัพย์สินอื่น กองทุนประเภทนี้มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน ระหว่าง 65-80% ของ NAV หรือ กระจายลงทุนในสินทรัพย์อื่น ระหว่าง 20-35% เช่น ตราสารหนี้ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)
2. ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบใด active หรือ passive
การลงทุนแบบ active คือ การลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ผู้จัดการกองทุนมุ่งสร้างผลตอบแทนให้มากกว่าดัชนีอ้างอิง ซึ่งจะต้องอาศัยความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการกองหรือมีกระบวนการคัดเลือกหุ้นด้วยการวิเคราะห์เชิงลึก ในขณะที่การลงทุนแบบ passive จะเน้นสร้างผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีอ้างอิง ด้วยการลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีอ้างอิง เช่น SET50 หรือ SET100 และให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวสอดคล้องกับดัชนีอ้างอิง จึงทำให้ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนของกองทุนแบบ passive ต่ำกว่ากองทุนรวมที่มีกลยุทธ์แบบ active
3. ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทางหรือไม่
ปัจจุบันกองทุน SSFX ที่เสนอขายแล้วมีทั้งกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งมีข้อดีแตกต่างกัน คือ SSFX ประเภทที่จ่ายเงินปันผลจะเหมาะกับผู้ลงทุนที่ชอบผลตอบแทนระหว่างการลงทุน หรือเพื่อให้มีกระแสเงินสด (cash flow) อย่างไรก็ตามผู้ลงทุนจะต้องเข้าใจว่าเงินปันผลที่ได้รับมาจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วย
จากคำถามทั้ง 3 ข้อข้างต้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปในหัวข้อ นโยบายการลงทุน กลยุทธการลงทุน และค่าธรรมเนียม
โค้งสุดท้ายสำหรับการลงทุนใน “กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” ที่ปัจจุบันเปิดสนอขายแล้วจำนวน 20 กองทุน จากบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) 15 แห่ง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ บลจ. สาขาของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงแอปพลิเคชั่นของตัวแทนขายหน่วยลงทุนที่เสนอขายกองทุนดังกล่าว หรือสอบถามมาที่ สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. 1207 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านต่อ
โค้งสุดท้าย กับการลงทุนในกองทุนรวม “SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน”