HoonSmart.com>>บล.เอเซียพลัสคงน้ำหนักหุ้นธนาคารพาณิย์น้อยกว่าตลาด แนะขายออกก่อน หลีกเลี่ยงไฟแนนซ์ คำสั่งลดดอกเบี้ย กระทบ AEONTS ส่วน SAWAD – MTC มีผลจำกัด ชอบหุ้นปันผล INTUCH -หุ้นเล็ก SPVI ดัชนีมีโอกาสปรับฐาน ดัชนีสูงกว่าเป้าหมายปี 2563-2564
บล.เอเซียพลัส (ASP) วิเคราะห์ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ให้คงน้ำหนักน้อยกว่าตลาด แนะนำขายย้ายกลุ่มเล่นชั่วคราว จากทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงความน่าสนใจด้านผลตอบแทนปันผล ในปี 2563 เริ่มลดลง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่งสัญญาณเตรียมรับปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรง เช่นให้จัดทำแผนบริหารจัดการเงินกองทุน สำหรับ 1-3 ปีข้างหน้า ในระหว่างจัดทำแผน ให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาล (ปี 2562 เกือบทุกธนาคารมีการจ่ายเงินปันระหว่างกาล ยกเว้น KTB และ TISCO จ่ายปีละครั้ง) และห้ามซื้อหุ้นคืน (ปัจจุบันไม่มีธนาคารใดมีโครงการซื้อหุ้นคืน) เพื่อรักษาความแข็งแกร่งของเงินกองทุนทั้งระบบ ที่ถือเป็นแหล่งเงินหลักของหลักของเรียลเซคเตอร์และภาคครัวเรือน รวมถึงเป็นที่รวมเงินฝากของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทย
“สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนที่คาดหวังเงินปันผลในช่วงเวลากลางปี รวมถึงอาจทำให้นักลงทุนบางกลุ่มตีความถึงแนวโน้ม NPL ในอนาคตที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อบุคคล คิดเป็นสัดส่วนราว 39% ของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มฯ (หลักๆ เป็นสินเชื่อเคหะ)”
ฝ่ายวิจัยทำการศึกษาสินเชื่อบุคคลมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงราว 80% ของ GDP สวนทางกับรายได้ที่เผชิญกับสภาวะรายได้ รวมถึงภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ (สัดส่วนราว 36% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร) น่าจะแข็งแกร่งสุดในสภาวะปัจจุบัน พิจารณาจากมาตรการชะลอชำระหนี้ ที่มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการราว 6.6 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรายย่อย, SME และ สินเชื่อรายใหญ่ ราว 57%, 32% และ 11% ตามลำดับ โดยกลุ่มลูกหนี้รายย่อย ที่มีปัญหาฟื้นตัวช้านำไปสู่มาตรการชะลอชำระหนี้เฟส 2 ที่เปิดให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค. – 31 ธ.ค. 2563 แม้ช่วยชะลอการไหลตกชั้นชั่วคราว แต่หากฟื้นตัวช้า ย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบธนาคารพาณิชย์
สำหรับมาตรการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล (เดิม 28% ลงเหลือ 25%) สินเชื่อจำนำทะเบียน (เดิม 28% เหลือ 24%) และสินเชื่อบัตรเครดิต (เดิม 18% เหลือ 16%) ชั่วคราว มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค. 63-31 ธ.ค. 2564 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 อาทิ เลื่อนชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) เป็นเวลา 3 เดือน หรือการลดอัตราการผ่อนขั้นต่ำ เป็นต้น เริ่มให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ก.ค.- 31 ธ.ค. 2563 ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่า AEONTS จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวมากสุด เพราะคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต (39% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 20% (รวมค่าธรรมเนียมเบิกเงินสด) และคิดอัตราดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด (50% ของสินเชื่อรวม) ที่ราว 26% ทำให้ฝ่ายวิจัยมีแนวโน้มปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2563/64-65 ของ AEONTS ลงราว 15% และ 21% จากปัจจุบัน และยังคงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุน AEONTS ไปก่อน
ขณะที่ SAWAD และ MTC จะได้รับผลกระทบจำกัด เพราะปัจจุบันคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าที่ราว 22% ต่ำกว่าคาดการณ์เพดานสินเชื่อใหม่ที่ 24% อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามคุณภาพลูกหนี้ของกลุ่มเช่าซื้อด้วย เพราะภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว จากผลกระทบ COVID-19 จะกดดันความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าลง โดยราคาหุ้นกลุ่มเช่าซื้อส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนเต็มมูลค่าพื้นฐานแล้ว อีกทั้งยังได้รับ sentiment เชิงลบจากมาตรการควบคุมอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารแห่งประเทศไทย แนะให้หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อน
“หลายบททดสอบฉุดรั้งดัชนีแพงให้มีโอกาสปรับฐาน ชอบ หุ้นปันผล INTUCH, หุ้นเล็ก SPVI ”
ปัจจุบันดัชนีอยู่ที่ 1370.82 จุด ซึ่งซื้อขายกันบน P/E บนประมารการปีนี้ ที่สูงเกินกว่า 21.4 เท่า (สูงสุดในภูมิภาค) จนไม่เหลือ Upside ในทางพื้นฐานแล้ว เนื่องจากสูงกว่าดัชนีเป้าหมายปี 2563 ที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 1,164 จุด และสูงใกล้เคียงกับดัชนีเป้าหมายปี 2564 ที่ 1,407 จุด