นักลงทุนเชื่อหรือไม่ เรื่องบริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) สนใจจะเข้าเทคโอเวอร์ บริษัทแอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ไม่มีมูล!
แม้ว่าทั้งสองบริษัทจะปฎิเสธข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วก็ตาม โดย LPN ออกตัวว่ายังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท โนเบิลฯ ที่จะเข้ามาถือหุ้นในลักษณะครอบงำกิจการ (เทคโอเวอร์) และราคาหุ้นของบริษัทต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญษัทอื่นที่เล็งเห็นคุณค่าและเข้ามาซื้อหุ้น เพื่อวัตถุประสงค์บางประการ เชื่อว่าการเก็บหุ้นจะยังคงดำเนินต่อไป แต่สุดท้ายจะลงเอยในรูปแบบใดเท่านั้น
จะเป็นการครอบงำกิจการอย่างไม่เป็นมิตร หรือ Hostile Takeover หรือไม่ คงต้องตามดูดีๆอย่ากระพริบตา
LPN เนื้อหอมมากๆ ราคาหุ้นถูก แถมปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลที่สูงด้วย
ตอนนี้มีหุ้นอสังหาริมทรัพย์หลายตัวที่ซื้อขายต่ำกว่าบุ๊ก แต่ราคาไม่ได้วิ่งขึ้นมาเร็วเหมือน LPN ที่กระโดดจากระดับ 3 บาทเศษ พุ่งพรวดทะลุ 6 บาท เพียงไม่กี่วัน ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายมากผิดปกติ คงไม่ใช่เพราะรับข่าวดีเรื่องบอร์ดอนุมัติงบ 500 ล้านบาท ในการเปิดโครงการซื้อหุ้นคืนจำนวน 126 ล้านหุ้นหรือ 8.54% เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.-3 ธ.ค. 2563 เท่านั้น จะต้องมีอะไรลึกซึ้งกว่านี้
กระแสข่าว บริษัทโนเบิลฯจ้องเทคโอเวอร์ ดูสมเหตุสมผล เพราะยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
นอกจากหุ้น LPN เทรดที่ราคาต่ำ P/E เพียง 7 เท่า บริษัทยังมีสุขภาพแข็งแกร่ง หลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 มาอย่างสะบักสะบอม ปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า 3,300 ล้านบาท ด้วยการตัดขายทรัพย์สินไปหลายชิ้น เพื่อรักษาชีวิตรอดมาได้และเติบโตอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ได้อาศัยบทเรียนมาวางเกาะป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จำกัดการก่อหนี้ และจัดโครงสร้างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร สามารถสอบผ่านได้ทุกสถานการณ์ เห็นได้ชัดเจนจากธุรกิจเผชิญกับวิกฤตไตรมาส 1/2563 แม้ว่ากำไรสุทธิจะหดตัวถึง 38% เหลือจำนวน 216 ล้านบาท ตามยอดขายที่ลดลง แต่มีรายได้จากค่าเช่าเข้ามาช่วยเพิ่มขึ้น และรักษามาตรฐานกำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 30% ดูแล D/E ไม่เกิน 1 เท่าอย่างที่วางนโยบายไว้
ที่สำคัญ LPN สะสมสมบัติไว้มาก ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2563 มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรถึง 10,674 ล้านบาท มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอีก 962 ล้านบาท กระแสเงินสดหมุนคล่องมือ อาศัยจุดเด่นคอนโดมิเนียม “สังคมคุณภาพในชุมชนน่าอยู่ ” โดยทีมบริหารจัดการอาคารชุดสุดยอด ซึ่งหาที่ไหนอีกไม่ได้แล้ว
แต่ LPN ก็มีจุดอ่อนตรงที่เป็นบริษัทมหาชนเต็มรูปแบบ ปล่อยหุ้นหมุนเวียนในตลาดถึง 91.11% ไม่มีเจ้าภาพชัดเจน เห็นได้จากผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งคือ บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ ถือ 5.03% ตามด้วย สำนักงานประกันสังคม 4.65% ขณะที่มีผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการถือหุ้นเล็กน้อยมาก “ยุพา เตชะไกรศรี” ถือแค่ 1.61% รวมกับสามี “สุเมธ เตชะไกรศรี”อีก 2.63% ยังไม่ถึง 5% เลย
โครงสร้างบริษัทที่ไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 5% ตกเป็นเป้าถูกเทคโอเวอร์ได้ง่าย ยิ่งบริษัทที่โดดเด่นย่อมเป็นที่หมายปองของบริษัทอสังหาฯด้วยกัน
จังหวะเหมาะกับโนเบิลฯ เพิ่งตั้งหลักวิ่ง หลังปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ และทีมผู้บริหารชุดใหม่ นำโดย ” ธงชัย บุศราพันธ์” เมื่อปี 2562 รายได้กระโดดถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขทางการเงินทุกตัวดีขึ้น ผงาดติดท็อปเท็นอสังหาริมทรัพย์ แม้รอบนี้ยังวัดผลไม่ได้ เพราะรายได้ส่วนหนึ่งประมาณ 6,000 ล้านบาทมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำมาลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมเพื่อขาย แต่ความมั่นใจเกิดขึ้น ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าขอ 3 ปีติดท็อปไฟว์ สร้างยอดขาย 1.5-2 หมื่นล้านบาท/ปี เชื่อว่าทำได้แน่นอน
NOBLE ใช้กลยุทธ์โตด้วยตัวเองและเดินเกมส์จับมือกับพันธมิตรพัฒนาโครงการด้วยกัน เช่น กลุ่มฮ่องกงแลนด์ บริษัทยู ซิตี้ (U) ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) รวมถึงการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อังกฤษ และการขายทรัพย์สินเข้ากองทุน สามารถสร้างรายได้-กำไรโตได้ แต่เรื่องขนาดของมาร์เก็ตแคปที่มีอยู่ประมาณ 5,300 ล้านบาท ยังทิ้งห่างคู่แข่งหากได้ LPN เข้ามาเพิ่มกว่า 8,000 ล้านบาท ทะลุ 10,000 ล้านบาทจะสามารถโตได้เร็วกว่าเดินโดยลำพัง
การซื้อกิจการคงไม่ง่าย หากเจ้าของไม่ยินยอม หรือถูกต่อต้าน พบเบื้องหลังบอร์ด LPN ใจดี อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลถึงหุ้นละ 1 บาท ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก บริษัททุกแห่งจะต้องเก็บเงินสดให้มากที่สุด บางบริษัทถึงกับงดการจ่ายเงินปันผล แต่จู่ๆ LPN กลับจ่ายมากกว่าทั้งปี 2562 ที่หุ้นละ 0.60 บาท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเงินสดนำไปซื้อหุ้น ซึ่งจะต้องติดตามว่าจะสามารถต้านทานได้หรือไม่
หวังว่าดีลนี้คงไม่ซ้ำรอย บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ของ ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต ที่ถือหุ้นไม่ถึง 5% ถูกเทคโอเวอร์อย่างไม่เป็นมิตร โดยไอ้โม่ง มีการแย่งกันซื้อหุ้น ไล่ราคาขึ้นไปแรงผิดปกติ แต่ในที่สุด “กลุ่มมหากิจศิริ “เป็นผู้ชนะถือหุ้นใหญ่ และมีการกดดันให้เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เปิดทางให้”เฉลิมชัย มหากิจศิริ” เข้ามานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนจนถึงทุกวันนี้