ศูนย์วิจัยกสิกรฯลุ้นกำไรแบงก์ Q2/63 สินเชื่อโต 5% NIM ลงเหลือไม่ถึง 2.35%

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เจอโจทย์ท้าทายไตรมาส 2/2563 ประคองกำไรท่ามกลาง สินเชื่อเร่งตัวขึ้นโต 5-6% ตามมาตรการช่วยเหลือ ธุรกิจขนาดใหญ่เบิกใช้เงินในยามตลาดหุ้นกู้ผันผวน แต่ดอกเบี้ยลดลงจนรายได้สุทธิหดตัวเหลือ 2.15-2.35% จาก 3.09% ในไตรมาสแรก ถ้าไม่ลดดอกเบี้ยออมทรัพย์มาช่วย แถมอาจจะเจอปัญหาคุณภาพหนี้แย่ลง

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ลง 0.25% เหลือ 0.50% เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ถูกส่งผ่านมายังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์อีกครั้ง โดยธนาคารขนาดใหญ่ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR-MRR-MOR ลงอย่างพร้อมเพรียงกัน อาจเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อรายได้ดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ในไตรมาสที่ 2/2563 จะชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 2.15-2.35% จาก 3.09% ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา

นอกจากนี้ สินเชื่อในเดือนเม.ย.อาจเติบโต 5.2% ผลของมาตรการช่วยเหลือลูกค้า และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่เบิกใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นทดแทนการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ในช่วงภาวะตลาดผันผวน อาจทำให้สินเชื่อขยายตัวสูงในกรอบประมาณ 5.0-6.0% ในไตรมาสที่ 2 เทียบกับที่เติบโต 4.0% ในไตรมาสที่ 1 แต่สินเชื่อที่โตอาจจะได้รับผลตอบแทนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเช่นสภาวะปกติ และสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพมีโอกาสขยับขึ้นสูงขึ้น แม้ปัญหาเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเหลือลูกค้า อาจทำให้การประคองผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 เป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมาก

“ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงอยู่ในกรอบ ประมาณ 0.125%-0.40% จะช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยจ่ายของลูกค้าแบงก์ได้ทันที ปัจจุบันลูกค้ากว่า 50% ของพอร์ตสินเชื่อ มีสัญญาดอกเบี้ยลอยตัวอ้างอิงตามดอกเบี้ย MLR-MRR-MOR ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการเบิกใช้สินเชื่อระยะสั้นเพิ่มขึ้นในระยะนี้ ก็จะมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงด้วยเช่นกัน แต่สินเชื่อแทบทุกประเภทเติบโตในกรอบจำกัด (ยกเว้น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่) ขณะที่พอร์ตสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยบางส่วนอยู่ในช่วงพักชำระดอกเบี้ยตามมาตรการช่วยเหลือลูกค้า อาจทำให้ NIM ลงมาเหลือ 2.15-2.35% หากปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าทั่วไปลง 0.125% ก็อาจช่วยประคอง NIM ได้ประมาณ 0.06% “ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์

ปัญหาคุณภาพหนี้ยังเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจะขยับขึ้นมาที่ 3.05% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 1 ตามที่คาด แต่การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ หนี้ Stage 2 มาที่ 7.70% (จาก 2.79% ณ สิ้นปี 2562)  ประเมินว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2

นอกจากนี้อีกประเด็นที่เฝ้าอยู่ที่หนี้ที่สถาบันการเงินเข้าช่วยดำเนินการปรับโครงสร้าง จากยอดหนี้รวมได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน 6.12 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 15 พ.ค.2563) นั้น ประเมินว่าอาจคิดเป็นประมาณ 30% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในระยะต่อไปยังคงผันแปรตามเงื่อนไขการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละธุรกิจ จะมีนัยต่อทิศทางคุณภาพหนี้รวมถึงภาระในการตั้งสำรองฯ ของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี สถานะของระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูง ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆในระยะนี้ไปได้

อ่านข่าว

10 แบงก์กวาดกำไร 44,120 ลบ.ร่วง 18% ธุรกิจดีเกินคาด Q1-กรุงศรีจ่อปรับเป้าปี 63