SCBAM Market Insight : รายงานภาวะตลาด ประจำวันที่ 18-22 พ.ค. 2563
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังคงผันผวน แม้ว่าธนาคารกลางและรัฐบาลทั่วโลกยังคงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังอย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่เป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในระยะนี้ อย่างไรก็ตามตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มดำเนินการผ่อนปรนมาตรการ Lockdown และมีแผนการที่จะกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งเริ่มมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น เช่น ประเทศจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศดังกล่าวยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง
สหรัฐ เตรียมออกกฎหมาย “COVID-19 Accountability Act” โดยที่ทางสหรัฐฯ จะอนุญาตให้ Trump สามารถทำการ sanction จีนได้ ในกรณีที่ไม่ร่วมมือในการสืบสวนของสหรัฐเพื่อหาต้นตอของ Covid-19 ซึ่งกฎหมายนี้จะเปิดทางให้ Trump เลือกวิธีทำการ sanction กับจีน โดยอาจจะเป็นการไม่ให้เคลื่อนย้ายถ่ายโอนทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่จีน การห้ามการเดินทาง การยกเลิกวีซ่าของชาวจีนบางกลุ่มและการไม่ให้วีซ่านักเรียนจีน เป็นต้น
ตัวเลขในตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. ยังคงอ่อนแอ จากตัวเลขภาคการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) สหรัฐฯ ลดลง 20.5 ล้านราย โดยที่การจ้างงานในภาคบริการปรับลดลงถึง 18.2 ล้านราย จากการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% นับว่าเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่วิกฤต Great Depression ในปลายทศวรรษ 1930
ยอดปล่อยสินเชื่อของจีนในเดือน เม.ย. ออกมาดีกว่าคาด โดยยอดระดมทุนรวมสุทธิ (Total Social Financing) อยู่ที่ 3.090 แสนล้านหยวน เป็นผลมาจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องทั้งการลดดอกเบี้ย MLF และการทยอยลด RRR ขณะที่ยอดการระดมทุนจากเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ และยอดออกหุ้นกู้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน
กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนเม.ย. ของจีนฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากผ่อนคลายมาตรการควบคุม COVID-19 โดยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมี.ค.หที่หดตัวถึง -1.1%YoY พลิกกลับมาขยายตัวที่ระดับ 3.9 %YoY จากยอดผลผลิตรถยนต์ที่กลับมาฟื้นตัว ส่วนตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) กลับมาฟื้นตัวขึ้นจากระดับ -15.8%YoY เป็นที่ระดับ -7.5% YoY เช่นกัน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย เดือน เม.ย. หดตัว โดยดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงจากเดือนมี.ค. 3.1 จุดสู่ระดับที่ 47.2 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการปิดเมืองตามพ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
รายงานของ EIA เดือน พ.ค. คาดว่าจุดต่ำสุดของความต้องการบริโภคน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นไปแล้วในเดือน เม.ย.
ซึ่งความต้องการบริโภคน้ำมันดิบในช่วงเดือน เม.ย. หดตัวรุนแรงที่สุดที่ -16 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปีหลังเปิดเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ปริมาณการบริโภคตลอดช่วงไตรมาสที่ 2 จะหดตัวราว -12.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเหลือเพียง -2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น จึงคาดว่าตลาดน้ำมันดิบจะกลับเข้าสู่จุด Balance อีกครั้งในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป
กลยุทธ์การลงทุน
“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET ENERGY SECTOR INDEX (SCBENERGY)
“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ออยล์ (SCBOIL)
“ซื้อ” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้นจีนเอแชร์ (SCBCHA)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ไทยอิควิตี้ (SCBTEQ)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ)
“ลดน้ำหนักการลงทุน” กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (SCBNK225)