แปลกแต่จริง! ดอกเบี้ยต่ำมาก แต่ยอดคงค้างเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์กลับพุ่งสูงปรี๊ดเป็นประวัติการณ์ถึง 13,856,353 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมี.ค.2563 เกิดอะไรขึ้น…
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีการรวบรวมข้อมูลเงินฝากที่ไหลเข้าระบบธนาคารพาณิชย์ทุกเดือน พบว่าในเดือนมี.ค. เข้ามาพรวดเดียว 754,210 ล้านบาท สูงขึ้นผิดปกติมาก เมื่อเปรียบเทียบกับในเดือนก่อน ๆ เช่น เดือนธ.ค. 2562 เดือนก.พ.2563 เพิ่มขึ้น 6 หมื่นล้านบาท /เดือน และยิ่งทิ้งห่างจากเดือนม.ค.ที่มีเงินฝากไหลออกไป -15,013 ล้านบาท
www.HoonSmart.com ได้สำรวจเงินฝากในเดือนมี.ค.ของธนาคารแต่ละแห่งพบว่า ธนาคารกรุงไทย (KTB) มียอดเงินฝากเข้ามาสูงที่สุด 164,988 ล้านบาท ตามด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพิ่มขึ้น 149,484 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เข้ามา 131,298 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพิ่มขึ้น 99,174 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จำนวน 71,760 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย (TMB) จำนวน 54,730 ล้านบาท
โดยรวมแล้วเฉพาะธนาคาร 6 แห่งมีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 671,434 ล้านบาท คาดว่าส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประเภทออมทรัพย์ ทำให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดจ่ายให้แก่ลูกค้า โดย TMB ให้อัตราผลตอบแทนต่ำที่สุด 0.125% BAY จ่าย 0.30% BBL ให้ 0.375% ส่วน SCB และ KBANK จ่ายเท่ากัน 0.50%
นอกจากนั้นฐานเงินฝากที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ยังส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย สำหรับเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งคำนวณจากยอดเงินฝากเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก ทุกๆ 6 เดือน แม้ว่าในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ปรับลดอัตรานำส่งจาก 0.46% ของเงินฝาก เหลืออัตรา 0.23% ของเงินฝากแล้วก็ตาม เชื่อว่ายังเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากทีเดียว
สำหรับเงินที่ไหลบ่าเข้าไปฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่าเป็นเพียงการพักเงินจากที่ไหลออกจากตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) รวมถึงกองทุนรวมทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เพราะในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา การลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์ ทั้งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ปั่นปรวนมาก กดดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงแรงต่ำสุดที่ระดับ 1,024 จุด เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2563 รูดลงแรงถึง 35% จากสิ้นปี 2562 ส่วนตลาดตราสารหนี้ ก็เผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดความมั่นใจ ส่งผลต่อเนื่องถึงราคาตราสารหนี้ทรุดลงต่ำกว่าความเป็นจริง นักลงทุนแห่ไถ่ถอนกองทุนตราสารหนี้ จนนำไปสู่บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) ต้องประกาศปิดกองทุนตราสารหนี้ 4 กองทุน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาทั้งตลาดหุ้นและตราสารหนี้พลิกกลับอย่างรวดเร็ว หลังจากทางการออกมาตรการมาดูแล รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนรอบใหม่ จนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิดที่ระดับ 1,301 จุด เพิ่มขึ้น 175 จุด พุ่งถึง 15% เทียบกับดัชนีสิ้นเดือนมี.ค.ปิดที่ระดับ 1,125 จุดเช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ที่ฟื้นตัวใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ
บรรยากาศการลงทุนที่สดใสอย่างชัดเจน เชื่อว่าจะมีการโยกย้ายเงินออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงต้องจับตาดูตัวเลขเงินฝากในเดือนเม.ย. ว่าจะลดลงจากเดือนมี.ค.ได้มากแค่ไหน หากลงไม่เร็วอย่างที่วิ่งเข้ามา แบงก์เหนื่อยแน่ ๆ แบกภาระดอกเบี้ยจ่ายและภาระการนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสินเชื่อขยับขึ้นไม่มาก รวมถึงความเสี่ยงเรื่องหนี้เสีย ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงในปี 2563 เพราะฉะนั้นใครจะลุยหุ้นแบงก์เพราะเห็นว่าราคาต่ำ ยังต้องตั้งการ์ดสูงพอสมควร ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีอีกมากอย่างคาดไม่ถึงก็ได้