18 กองทุน SSF พิเศษยอดไม่ถึงพันลบ. บลจ.ทยอยซื้อหุ้นราคาต่ำในตลาด

HoonSmart.com>> มอร์นิ่งสตาร์ฯ เผยกองทุน SSF พิเศษไม่คึกคัก  18 กองทุน IPO ไม่ถึง 1 พันล้านบาท ชี้ 3 ปัจจัยทำนักลงทุนกอดเงินสด เหตุ COVID-19 กระทบกำลังซื้อ ตกงาน หุ้นดีดขึ้นเร็วรอปรับฐาน  เงื่อนไขถือลงทุนนาน 10 ปี มีผลต่อการตัดสินใจ ฟากบลจ.เอ็มเอฟซี เผยทยอยเข้าซื้อหุ้นราคาต่ำในตลาด  

น.ส.ชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผย HoonSmart.com ว่า ผลตอบรับกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (Super Savings Fund Extra : SSFX) ลงทุนหุ้นไทยจำนวน 18 กองทุน ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 14 แห่ง ทยอยปิดขายครั้งแรก (IPO) หลังจากเปิดให้จองซื้อตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ยังมีเม็ดเงินเข้าลงทุนไม่มากนัก จากข้อมูล ณ สิ้นวันทำการวันแรกที่กองทุนเปิดซื้อ-ขายเป็นการทั่วไป มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รวมทั้งสิ้น 909.45 ล้านบาท

สำหรับกองทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดได้แก่ บลจ.บัวหลวงและบลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีฐานลูกค้าในกลุ่มกองทุนรวมลดหย่อนภาษีอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ค่อนข้างมากอยู่แล้ว โดยกองทุน SSF พิเศษ ของบลจ.บัวหลวงมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุด 266.64 ล้านบาท รองลงมาบลจ.กสิกรไทย 254.53 ล้านบาท อันดับสามเป็นบลจ.กรุงศรี 95.98 ล้านบาท ส่วนกองทุนที่มีเม็ดเงิน IPO น้อยสุดมูลค่าประมาณ 1.68 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ปกติที่ซื้อลงทุนได้ทั้งปีเปิด IPO พร้อมกับกองทุน SSFX มีจำนวน 6 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม ณ สิ้นวันของวันแรกที่เปิดซื้อขายทั่วไป 7.31 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าดังกล่าวรวมกองทุนของบลจ.แมนูไลฟ์ที่ไม่ได้ออกกองทุนใหม่ แต่นำกองทุน LTF เดิมมาจดทะเบียนแยกหน่วยลงทุนเป็นกองทุน SSF เพิ่ม

อย่างไรก็ตามเมื่อรวมขนาดกองทุนทั้งสองประเภทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 916.76 ล้านบาทเท่านั้น แต่หลังกองทุนเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิมีขนาดเพิ่มขึ้น ณ วันที่ 22 เม.ย.2563 อยู่ที่ 1,276.34 ล้านบาท เป็นของ SSF พิเศษจำนวน 1,250.55 ล้านบาท

น.ส.ชญานี กล่าวว่า สาเหตุที่นักลงทุนซื้อกองทุน SSFX และ SSF ไม่มาก อาจเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สร้างความกังวลทำให้นักลงทุนต้องการเก็บเงินสดไว้ ไม่รีบเข้าลงทุนหรือมองแนวโน้มดัชนีอาจปรับตัวลงจากการ Lockdown ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดีดตัวขึ้นมาเร็วจากช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาดัชนีลงไปต่ำกว่า 1,000 จุด จนปัจจุบันดัชนีขึ้นมายืนบริเวณ 1,200 จุด

นอกจากนี้เงื่อนไขการถือครองกองทุนนาน 10 ปี นับวันชนวัน เมื่อเทียบกับกองทุน LTF ในอดีตระยะเวลาเพียง 7 ปีปฏิทิน หรือ 5 ปี 2 วัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนอาจลังเลในการเข้าลงทุนกองทุน SSFX อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูช่วงปลายปีซึ่งเป็นปกติที่นักลงทุนจะเข้าซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีในช่วงเดือนธ.ค.ว่าจะมีเงินเข้าลงทุนกองทุน SSF ที่ได้ลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกันมากน้อยแค่ไหน

“ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ COVID-19 กระทบประชาชนในวงกว้าง รวมถึงพนักงานบริษัท โดยเฉพาะอาชีพที่มีรายได้ต่อเดือนสูงและบางคนก็อาจตกงานจากการปิดกิจการ เช่นธุรกิจโรงแรม สายการบิน เป็นต้น ทำให้เม็ดเงินลงทุนในกองทุนลดภาษีจากคนกลุ่มนี้อาจหายไป หรือแม้กระทั่งนักลงทุนบางส่วนอาจใช้สิทธิลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษียังไม่เต็มโควตาที่รัฐเปิดให้ จึงไม่สนใจกองทุน SSFX ในช่วงที่กำหนดให้ลงทุน 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 แม้จะได้วงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษก็ตาม”นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช กล่าว

ทั้งนี้ กองทุน SSFX พิเศษลงทุนหุ้นไทย กำหนดให้ลงทุน 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563 ได้สิทธิลดหย่อนภาษีโดยซื้อลงทุนได้สูงสุด 200,000 บาท ไม่รวมกับสิทธิ์อื่นๆ ต่างจากเงินลงทุนในกองทุน SSF ที่ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาทเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันบำนาญต้องไม่เกิน 50,000 บาท

นายชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จดการอาวุโส บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผย HoonSmart.com ว่า MFC เปิดขายทั้งกองทุน SSFX และ SSF ซึ่งนักลงทุนยังเข้าลงทุนน้อยอาจเป็นเพราะสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งเงื่อนไขการถือครอง 10 ปีนับวันชนวัน อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนลังเลที่จะเข้าลงทุน รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นมาจากจุดต่ำสุดมากกว่า 20% นักลงทุนอาจกลัวหุ้นปรับฐาน หากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาแย่กว่าคาด

“นักลงทุนรับรู้อยู่แล้วว่ากำไรบจ.จะถูกกระทบจาก COVID-19 แต่หากแย่กว่าคาดหุ้นก็อาจย่อตัวลง ก็ยังมีเวลาซื้อกองทุน SSFX ถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2563 รวมทั้งนักลงทุนอาจรอดูมาตรการ Lockdown จะผ่อนปรนให้ธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติเร็วแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ตลาดมองว่าเดือนพ.ค.นี้น่าจะเริ่มเปิดได้บ้างและครึ่งปีหลังเปิด 70-80% แต่หากลากยาวก็ต้องมาประเมินสถานการณ์ตลาดและกำไรบริษัทจดทะเบียนกันใหม่”นายชาคริต กล่าว

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากดัชนีปรับฐานไม่น่าจะลงไปลึกเท่ากับช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาลงไปต่ำสุด 969 จุดจากความผันผวนอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกจากความวิตกการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายชาคริต กล่าวว่า สำหรับกองทุน SSFX และ SSF ของบลจ.เอ็มเอฟซี เปิด IPO ตั้งแต่ 1-15 เม.ย.ที่ผ่านมาและได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แล้ว แต่ยังไม่เข้าลงทุนเต็ม 100% เนื่องจากหุ้นปรับตัวขึ้นมาเร็ว จึงค่อยๆ เลือกซื้อรายตัวและต้องติดตามสถานการณ์ COVID-19 ต่อเนื่อง อีกทั้งกองทุนมีเงื่อนไขลงทุนในหุ้นไทยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 65% ในรอบปี จึงไม่จำเป็นต้องรีบเข้าซื้อทั้งจำนวน

กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ เชื่อว่าหลัง Lockdown จะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนหุ้นที่เลี่ยงลงทุนคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น สายการบินและท่องเที่ยว

นายชาคริต กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การบริหารกองทุนหุ้นของ MFC ก่อนหน้านี้ได้ลดการถือหุ้น โดยถือเงินสดประมาณ 20-25% ของพอร์ตในช่วง COVID แพร่ระบาดปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ แต่ปัจจุบันทยอยเข้าซื้อหุ้นทำให้ถือเงินสดลดลง โดยมองดัชนีสิ้นปีมีโอกาสไปถึง 1,300 จุด จากเดิมมองเป้าหมายไว้ 1,600 จุด ก่อน COVID-19 ระบาดหนัก

อ่านข่าว

13 บลจ.พร้อมเปิดขายกองทุน SSF ลงทุนหุ้นไทย วันแรก 1 เม.ย.นี้

เริ่มต้นลงทุน SSF