ไทยพาณิชย์หั่น GDP ปีนี้เหลือ -0.3%

HoonSmart.com>>EIC ของธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลด GDP ปีนี้เป็นหดตัว 0.3% จากเดิมคาดขยายตัว 1.8%  เงินเฟ้อติดลบ จากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงกว่าคาด  เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งปีแรก รอฟื้นตัวในไตรมาส 3   กนง.มีโอกาสลดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค. เฟดหั่น 0.75-1.00%

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ ตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่เคยคาด จึงปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 เป็นหดตัวที่ -0.3% ในกรณีฐาน (จากประมาณการเดิมที่ 1.8%) และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเกิดการถดถอยทางเทคนิค ( technical recession) ในช่วงครึ่งปีแรก โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจมีโอกาสหดตัวทั้งที่เปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน (%YOY) และไตรมาสก่อนหน้า( %QOQ )

ปัจจุบันมีหลายปัจจัยรุมเร้าเศรษฐกิจ ได้แก่ การหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว คาดทั้งปี 2563 จะเหลือเพียง 27.7 ล้านคน ทรุดลง 30.5%จากปีก่อน โดยจะมีการหดตัวมากสุดประมาณถึง 75% ในช่วงเดือนเมษายน ขณะเดียวกัน มูลค่าการส่งออกก็มีแนวโน้มลดลง 5.8% จากปีก่อนหน้า การใช้จ่ายในประเทศลดลงตามรายได้ของประชาชน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไป งบประมาณจากภาครัฐที่มีแนวโน้มเบิกจ่ายได้ต่ำในช่วงไตรมาสแรก คาดว่าจะเร่งการเบิกจ่ายในไตรมาส 2

ส่วนเศรษฐกิจโลกชะลอลงมาอยู่ที่ 1.8% ในปี 2563 (จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3%) รวมทั้งจะมีหลายประเทศที่มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี เช่น ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฮ่องกง เป็นต้น ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างมากจากทั้งการใช้น้ำมันที่ลดลงและสงครามราคาระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมัน จะส่งผลกระทบด้านลบค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน

ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายไตรมาส 3 ตามสมมติฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมาฟื้นตัว ตลอดจนมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ดร. ยรรยง กล่าวว่า  กนง. อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้ง ประมาณ 0.25% ในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2563 ที่มีแนวโน้มติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี (EIC ประเมินอยู่ที่ -0.2%) จะทำให้ความเสี่ยงของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) ในระยะข้างหน้าสูงขึ้น  การลดดอกเบี้ยจะมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ลดแรงกดดันด้านเงินบาทแข็งค่า ตลอดจนช่วยลดภาระการชำระหนี้และสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่มีปัญหาอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เรื่องการใช้ดอกเบี้ยที่มีจำกัด ภาครัฐคงต้องอาศัยความร่วมมือในการใช้มาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การผ่อนคลายด้านกฎระเบียบ การดูแลค่าเงินบาท หรือกลไกการค้ำประกันความเสี่ยงหรือเพิ่มสภาพคล่องเฉพาะจุด เป็นต้น หากมีความจำเป็นเพื่อเพิ่มระดับความผ่อนคลายของภาวะการเงินในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้นจากความผันผวนของตลาดเงินและการปรับลดลงอย่างรุนแรงของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก มองว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75-1.00% มาอยู่ที่กรอบ 0-0.25% ในปีนี้ ธนาคารกลางยุโรป( ECB )น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย deposit facility rate ลงอีก 0.10% มาอยู่ที่ -0.6% และธนาคารกลางญี่ปุ่น( BOJ) ที่อาจเพิ่มการเข้าซื้อสินทรัพย์ ETF และปรับให้มีความยืดหยุ่นในการเข้าซื้อมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง หากการแพร่ระบาดถูกควบคุมได้ภายในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเร็วกว่ากรณีฐาน ก็จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าการส่งออกของไทยปรับดีขึ้น