PTTEP กำไร 1.87 หมื่นลบ. ลดลง 3.2% คาด Q2 ยอดขาย 5.14 แสนบาร์เรล

HoonSmart.com>> “ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม” (PTTEP) เผยไตรมาส 1/67 กำไรสุทธิ 18,683 ล้านบาท ลดลง 3.20% จากงวดปีก่อน รายได้จากการขายลดลงจากราคาขายเฉลี่ยลดลง ด้านค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์ไตรมาส 2/67 ยอดขายแตะ 5.14 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 18,682.82 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.71 บาท ลดลง 3.20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 19,281.39 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 4.86 บาท

ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 524 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 8% เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานปกติจำนวน 543 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไร 592 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักจากรายได้จากการขายลดลง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง รวมถึงค่าเสื่อมราคา ค่าสูญสิ้น และค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากโครงการจี 1/61 และโครงการจี 2/61 ตามปริมาณการขายและสินทรัพย์พร้อมใช้งานที่เพิ่มขึ้นสุทธิกับปริมาณสำรองที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโครงการอาทิตย์และโครงการซอติก้าที่มีสินทรัพย์พร้อมใช้งานเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4 ล้านดอลลาร์หรัฐ เมื่อเทียบไตรมาส 1 ปี 2566 ขาดทุน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักจากกำไรจากสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าสุทธิกับขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปีก่อน อย่างไรก็ตามขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในไตรมาสนี้เป็นขาดทุนจำนวน 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ไตรมาส 1 ปีก่อนเป็นกำไรที่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าปรับตัวลดลง

ในไตรมาส 1 ปี 2567 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 81.3 ดอลลาสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 83.6 ดอลลาสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบยังคงตัวอยู่ในระดับสูงเนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัว โดยได้รับปัจจัยบวกจากกลุ่ม OPEC+ ที่ได้ตกลงขยายระยะเวลาการลดกำลังการผลิตจนถึงไตรมาส 2 ปี 2567 ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 1 นี้ ได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน

ทั้งนี้ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 70 – 90 ดอลลาสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากการคาดการณ์อุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยหลักจากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปในช่วงครึ่งหลังของปี2567รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน เมื่อพิจารณาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ปริมาณน้ำมันดิบสำรองทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในไตรมาส 1 ปี 2567 กำไรจากการดำเนินงานปกติลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของบริษัทลดลง 2% มาอยู่ที่ 47.24 ดอลลาสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ รวมถึงปริมาณขายเฉลี่ยต่อวันปรับตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 473,048 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยหลักจากรอบการส่งขายน้ำมันดิบของโครงการในประเทศแอลจีเรียลดลง สุทธิกับปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) ที่ได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติสู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา

นอกจากนั้น บริษัทยังคงรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 ต้นทุนต่อหน่วยของบริษัทอยู่ที่ 28.96 ดอลลาสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2566 มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ของโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1ในขณะที่ไตรมาสนี้ไม่มีรายการดังกล่าว บริษัทจึงรายงานผลขาดทุนที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติลดลงอย่างมีนัยสำคัญในส่วนของฐานะการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ปี 2567 คาดการณ์ปริมาณขายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 514,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และปี 2567 ที่ 509,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยหลักจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณขายในประเทศไทย เช่น ความสำเร็จของการเพิ่มกำลังการผลิตของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) สู่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน และโครงการบี 8/32 ที่กลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ หลังจากในปี 2566 มีการหยุดผลิตชั่วคราวจากปัญหาเรือรับก๊าซธรรมชาติของผู้ดำเนินการ

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 – 24 เดือน บริษัทคาดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับทั้งไตรมาส 2 ปี 2567 และปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 5.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู โดยมีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า, ราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งบริษัทมีการเข้าทำสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 มีปริมาณน้ำมันภายใต้การประกันความเสี่ยงดังกล่าว จำนวน 3.3 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทมีความยืดหยุ่นในการปรับแผนการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตามความเหมาะสม

สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 และทั้งปี 2567 ปตท.สผ. คาดว่าต้นทุนต่อหน่วยจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2566 โดยหลักจากค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานในอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น จากแนวโน้มอุปสงค์ของแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่อุปทานมีจำกัด อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ในระดับ 28 –29 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ