“แบงก์ไทยเครดิต” ขาย 28-29 บาท เปิดจอง 23-26 ม.ค เทรด 9 ก.พ.

Hoonsmart >> “แบงก์ไทยเครดิต” กำหนดช่วงราคา 28-29 บาท เปิดขายรายย่อย 23-26 ม.ค. ซื้อขายวันแรก ตลาด SET วันที่ 9 ก.พ. นี้ “วิญญู ไชยวรรณ” ย้ำราคาเหมาะสม โอกาสเติบโตสูง เผยสถาบันการเงินระดับโลก IFC และ ADB รวมทั้งกองทุน ไทย สนใจลงทุน 40% ของหุ้นที่เสนอขายสถาบัน

วันนี้ (22 ม.ค.2567) ธนาคารไทยเครดิต (CREDIT) โรดโชว์นักลงทุน เสนอขายหุ้นต่อนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 347 ล้านหุ้นเศษ หรือ 28% ของทุนชำระแล้ว แบ่งเป็นหุ้นสามัญออกใหม่ 64.74 ล้านหุ้น และผู้ถือหุ้นเดิม 282 ล้านหุ้น กำหนดราคาเสนอขาย 28-29 บาท เปิดจองซื้อสำหรับรายย่อย 23-26 มค เข้าซื้อขายวันแรก ตลาด Set นับเป็นธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาระดมทุนในรอบ 10 ปี

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต กล่าวว่า ราคาเสนอขายเหมาะสม เทียบอุตสาหกรรมแบงก์ ถือว่า มูลค่าหุ้นทางบัญชี 2 เท่า เหมาะสมกับธนาคารที่มีลักษณะเฉพาะ ทำธุรกิจเหมือน นันแบงก์ เน้นรายย่อย แต่ระดมเงินฝาก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับการเติบโตของธนาคารไทยเครดิต 3-5 ปี มีโอกาสเติบโตสูง เนื่องจากตลาดสินเชื่อรายย่อย เป็นตลาดที่ใหญ่มาก โดยธนาคารมุ่งเน้น ลูกค้ารายย่อย เป็นหลักในช่วง 3-5 ปีนี้

กลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีจำนวนมากและถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึง บริการเงินฝาก บริการสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารฯ ชูจุดเด่น ธนาคารไทยเครดิต ถือเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มี NIM (Net Interest Margin) สูงสุดในอุตสาหกรรม มีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม และอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดในอุตสาหกรรม

สำหรับผลการดำเนินงานปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 ธนาคารฯ มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370.9 ล้านบาท 8,493.6 ล้านบาท 11,052.4 ล้านบาท และ 9,783.8 ล้านบาทตามลำดับ มีกำไรสุทธิ 1,372.9 ล้านบาท 1,935.0 ล้านบาท 2,352.5 ล้านบาท และ 2,816.7 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROE) เท่ากับ 18.0% 20.7% 18.9% และ 21.8% ตามลำดับ สำหรับปี 2563-2565 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคารฯ มีจำนวนเท่ากับ 68,562.4 ล้านบาท 97,728.7 ล้านบาท 121,298.0 ล้านบาท และ 138,435.1 ล้านบาท ตามลำดับ อัตราเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 33.0% ต่อปี (2563-2565) โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้าน

วัตถุประสงค์การระดมทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารฯ ขยายพอร์ตสินเชื่อ และปรับปรุงระบบเทคโนโลยี ในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล