“IRPC” ลุยลงทุน 5 ธุรกิจใหม่ปี’67 “รีไซเคิลพีพี-โซลาเซลล์”ตัวท็อป

HoonSmart.com>>ไออาร์พีซี (IRPC)ขยายพอร์ตการลงทุนใน 5 ธุรกิจใหม่ปี 2567 มั่นใจ “รีไซเคิลพลาสติกพีพี โซลาเซลล์”ตัวท็อปรายได้ใหม่ เน้นใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าจากผลิตภัณฑ์หลัก พร้อมลดต้นทุนคงที่เดือนละ 100 ล้านบาท รับมือเศรษฐกิจซบ  แย้มไตรมาส 3 ปีหน้ามีบิกแบง

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี ( IRPC) เปิดเผยว่า ปี 2567 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกซบเซา กำลังซื้อยังไม่ฟื้นทั้งในยุโรป และเอเชีย  ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยซบเซาตามไปด้วยเพราะมีการพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก และในปี 2567 มีเพียงธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้นที่พอจะพึ่งพิงได้ และในเอเชีย มีเพียงอินเดียเท่านั้นที่เศรษฐกิจมียังมีการเจริญเติบโต และถนนทุกสายมุ่งสู่อินเดียทำให้เกิดการแข่งขันสูง

ไออาร์พีซี ก็เลี่ยงผลกระทบนั้นไม่พ้น จึงต้องดำเนินนโยบายธุรกิจแบบระมัดระวัง ทำธุรกิจอย่างรอบคอบมากๆ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ลดต้นทุนพลังงานจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ พร้อมทบทวนการลงทุนและสร้างโอกาสที่คุ้มค่า มุ่งเน้นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ขณะเดียวกันก็รักษาวินัยและสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างเพียงพอ

ปี 2567 บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจและการลงทุนใหม่ เพื่อรักษากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทไว้ให้ได้ในระดับเดือนละ 1,000 ล้านบาท จึงจะสามารถอยู่ได้สบายๆ โดย 9 เดือนแรกของปีนี้มี EBITDA จำนวน 8,010 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 3 จากไตรมาส 2 ที่ติดลบ ในขณะที่กำไร 9 เดือน ทำได้ 494 ล้านบาท จากยอดขาย 223,779 ล้านบาท กำไรน้อยกว่ากำไรจากการขายกาแฟ Amazon ในขณะที่ไตรมาส 4 ยอดขายลดลงอย่างมากจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา จะทำให้ EBITDA ของบริษัททั้งปีเฉลี่ยแล้วไม่ถึงเดือนละ 1,000 ล้านบาทตามที่ต้องการ

นอกจากนี้ บริษัทมีโครงการลดค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed cost) ซึ่งได้แจ้งเรื่องนี้ต่อพนักงานเรียบร้อยแล้วเป็นความสมัครใจร่วมกัน ไม่ได้มีการบังคับใดๆ โดยจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทน จะทำให้ค่าใช้จ่ายคงที่ลดลงได้เดือนละ 100 ล้านบาท และจะลงทุนใน 5 ธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดจากธุรกิจหลัก ซึ่งแผนดังกล่าวผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด)เรียบร้อยแล้ว แต่งบประมาณในการลงทุนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดจึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้

สำหรับ แผนกลยุทธ์การลงทุนในปี 2567 เน้นการยกระดับธุรกิจหลักให้มีประสิทธิภาพ และแตกไลน์ธุรกิจใหม่จากธุรหลักที่มีอยู่เดิม ซึ่งออกมาเป็น 5 ธุรกิจแห่งอนาคต ซึ่งจะทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ปี 2060 เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศที่กำหนดไว้ที่ปี 2065 ประกอบด้วย ธุรกิจด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ (Health & Life Science),วัสดุขั้นสูง (Advance Materials),ธุรกิจสีเขียวที่นำกลับมาใช้ใหม่ ( Green & Circular)โดยจะทำการรีไซเคิลพลาสติก โพลีโพรพิลีน หรือ PP ,พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)เน้นพลังงานหมุนเวียนจากโซล่าเซลล์ ,สินทรัพย์และบริการ (Assets & Services) เน้นพัฒนาที่ดินและใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่

“ธุรกิจหลักของเราจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยปลายปี 2565และต้นปี 2566 เราได้ทำการปรับปรุงบำรุงรักษาโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมี ไปแล้วใช้เงินร่วม 2,000 ล้านบาท โดยในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ เราจะปล่อยน้ำมันดีเซลมาตรฐาน ยูโร 5 ที่มีกำมะถันต่ำ ออกมาเป็นวันแรกช่วยสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับบริษัทฯ ซึ่งเริ่มก่อนกำหนดที่รัฐบาลบังคับไว้ว่าในวันที่ 1 ม.ค.2567 ทุกโรงกลั่นจะต้องขายน้ำมันที่ได้มาตรฐาน ยูโร 5 ตามที่ไทยจะก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ “นายกฤษณ์ กล่าว

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ใน 5 ธุรกิจใหม่ มี 2 ธุรกิจที่เป็นตัวท็อปที่สร้างรายได้ใหม่ให้กับบริษัทและจะสามารถเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด คือ หนึ่ง ธุรกิจ Green & Circular โดยจะทำการรีไซเคิลพลาสติก โพลีโพรพิลีน หรือ พีพี ซึ่งในไทยมีการใช้พลาสติกพีพีปีละ 1.4 ล้านตัน แต่การนำกลับมาใช้ใหม่ 0% บริษัทจะเป็นรายแรกที่ทำการรีไซเคิลพีพี ซึ่งได้เจรจากับทางพันธมิตรทางธุรกิจที่มีเทคโนโลยีในการทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อนบนพลาสติกพีพีแล้ว คาดว่าจะสามารถรีไซเคิลได้ปีละ 2-3 แสนตันต่อปี

สอง พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)เน้นพลังงานหมุนเวียนจากโซลาเซลล์ลอยน้ำและ rooftop เพราะบริษัทมีที่ดินถึง 1 หมื่นไร่ ติดอันดับ 5 ในการถือครองที่ดินเปล่ามากที่สุดของประเทศ เสียภาษีปีละ 87 ล้านบาท โดยปี 2567 ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ ส่วนหนึ่งผลิตให้ลูกค้า และอีกส่วนหนึ่งใช้เอง ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ 21 เมกะวัตต์ หากสามารถผลิตไฟได้มากจนเหลือใช้สามารถขายไฟเข้าระบบกริดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGAT ได้ เพราะมีสัญญาอยู่กับ EGAT 45 เมกะวัตต์

สำหรับ ธุรกิจ Assets & Services เน้นพัฒนาที่ดินและใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยได้ร่วมกับโรงพยาบาลบางปะกอกและโรงพยาบาลปิยะเวท ศึกษาการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลและสุขภาพ บนพื้นที่ทำเลทองซึ่งอยู่ตรงข้ามศูนย์ราชการจังหวัดระยอง แต่ยังต้องใช้เวลานานเพราะต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยโรงพยาบาลบางปะกอก ให้บริการประกันสังคม ซึ่งในจังหวัดระยองมีลูกค้าที่เป็นประกันสังคมจำนวนมาก

“ปีหน้าเรารันธุรกิจแบบรอบคอบ รอบคอบมากๆ แต่อยากบอกว่าในไตรมาส 3 ปีหน้า เราจะมีบิกแบง (Big Bang)แต่ยังบอกไม่ได้คืออะไร”นายกฤษณ์ กล่าว

นายกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับการสร้างความแข็งแกร่งต่อยอดจากธุรกิจหลัก (Core Uplift) ในส่วนของธุรกิจปิโตรเลียม (Domestic first)
1. ขยายระบบโลจิสติกส์ขนส่งน้ำมันทางท่อ โดยขยายคลังน้ำมันแห่งใหม่ที่ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยระบบขนส่งน้ำมันทางท่อความยาว 99 กิโลเมตร ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพขนส่งเชื้อเพลิงทางท่อและโลจิสติกส์ จำกัด หรือ BFPL เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานภาคขนส่งในภาคกลางและภาคเหนือช่วยให้การดำเนินงาน และการกระจายสินค้ามีประสิทธิภาพ ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการขนส่ง

2. โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและคุณภาพน้ำมันดีเซล ยูโร 5 (UItra Clean Fuel Project หรือ UCF) มีความพร้อมผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 หรือน้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำ สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายใน 1 มกราคม 2567 ตามนโยบายของภาครัฐ ช่วยสร้างมูลค่าและรายได้เพิ่มให้กับบริษัทฯ

ด้านธุรกิจปิโตรเคมี (Specialty Boost) จะทำการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ”POLIMAXX” ได้แก่ 1. เม็ดพลาสติก พี่พี เมลต์โบลน (PP Melt Blown) สำหรับผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่มีคุณภาพ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่างๆ

2. เม็ดพลาสติก พีพีอาร์ (PPR: PP random copolymer pipe) มีคุณสมบัติที่แข็งแรงทนต่อแรงขีดข่วนและแรงดัน ทนต่อสารเคมีได้มากกว่าท่อน้ำประปาทั่วไป มีความปลอดภัยสูง ผลิตจากเทคโนโลยีแบบไร้สารทาเลต (Non Phthalate) เหมาะสำหรับผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นในครัวเรือนและในโรงงานอุตสาหกรรม

3. เม็ดพลาสติก HDPE 100-RC สำหรับผลิตท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกได้ดีมาก มีอายุการใช้งานนานกว่า 100 ปี ช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาก่อสร้าง

ส่วนธุรกิจท่าเรือและอสังหาริมทรัพย์ (Maximize Infrastructure & Asset Utilization)บริษัทฯมีความพร้อมให้บริการท่าเทียบเรือน้ำลึกเพื่อขนถ่ายสินค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รองรับการขนส่งของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ท่าเรือคอนเทนเนอร์และสินค้าทั่วไป (Bulk & Container Terminal) ท่าเรือปิโตรเคมีและปิโตรเลียมเหลว(Liquid & Chemical Terminal)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรมพร้อมสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรองรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)

รวมถึงโครงการตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ โครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไออาร์พีซี จ.ระยอง โครงการนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHAIER) อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และที่ดินพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา