แนะถือกองทุนไทยลงทุนตปท. รับมือกม.เก็บภาษีรายได้หุ้นนอก

HoonSmart.com>>SCB WEALTH แนะถือกองทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ ไม่ต้องเสียภาษีรายได้กำไรหุ้นสูงสุด 35% รับกฎหมายใหม่ 1 ม.ค.2567 นี้ กระทุ้งรัฐแจง 2 ประเด็นใหญ่ให้ชัดก่อนสิ้นปี

นายสาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office ธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB) กล่าวว่า จากการกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากร เมื่อเดือนก.ย. 2566 และ วันที่ 20 พ.ย. 2566 จะมีการเก็บภาษีรายได้การลงทุนต่างประเทศ ทั้งจากเงินปันผล กำไรจากการขายหุ้น ดอกเบี้ย ค่าเช่า มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 นั่นหมายความว่านักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 180 วันขึ้นไป  หากมีเงินได้จากต่างประเทศ จะต้องนำมารวมเสียภาษีในประเทศไทยในปีนั้นในอัตราภาษีก้าวหน้าซึ่งสูงสุดถึง 35%

การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ได้ไปลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้  Wealth Planning and Family  office  จึงขอแนะนำนักลงทุนไทยที่ลงทุนต่างประเทศ อาจจะพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยที่ไปซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศหรือกองทุนไทยที่ไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศ

ข้อดีคือผู้ลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากได้กำไรจากการลงทุน  เพราะกองทุนรวมมีการจดทะเบียนในประเทศไทย แต่หากมีปันผลจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10%

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังมีความไม่ชัดเจนใน 2 ประเด็น ซึ่งอยู่ระหว่างรอคำตอบ คือ

1.ประเด็น กฎหมายไม่ได้เขียนเรื่องกำไรขาดทุนไว้ ยกตัวอย่าง ปีนี้มีการลงทุนต่างประเทศ ช่วงต้นปีกำไร 3 หน่วย พอปลายปีจะเอาเงินกลับไทยก็ขายทิ้งหมดแล้วเกิดขาดทุน 3 หน่วย จะคิดภาษีอย่างไร  ซึ่งกฎหมายไม่ได้เขียนไว้

2. สามารถนำภาษีที่ได้เสียภาษีในต่างประเทศมาลดภาษีในไทยได้หรือไม่

ยกตัวอย่าง กรณี เราอยู่ในไทย ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษ แล้วได้ค่าเช่า จะเอากลับมาไทย ต้องเสียภาษีที่อังกฤษก่อน แล้วเมื่อนำมาไทยยังต้องเสียภาษีในไทยอีก กลายเป็นว่าเงินได้ก้อนเดียวกันต้องเสียภาษี 2 ประเทศ  จะเอาภาษีในอังกฤษมาลดภาษีรายได้ในไทยได้หรือไม่

หรือ กรณีภาษีดอกเบี้ยจากต่างประเทศ จะลดให้เท่ากับภาษีดอกเบี้ยในไทยหรือไม่  เพราะรายได้จากดอกเบี้ยในไทย เสียภาษี 15% ถ้ามีการลงทุนในหุ้นกู้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ เมื่อนำรายได้จากดอกเบี้ยเข้ามาจะต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าเหมือนรายได้จากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เพราะในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าจะต้องเสียภาษีรายได้จากดอกเบี้ยอย่างไร ซึ่งก็หวังว่ากรมสรรพากรจะลดภาษีให้เท่ากับภาษีรายได้จากดอกเบี้ยในไทย

“ตอนนี้เรากำลังรอคำตอบที่ชัดเจนทั้ง 2 ประเด็นจากทางกรมสรรพากร หวังว่าจะได้คำตอบก่อนสิ้นปี”นายสาธิต กล่าว