“WHA” รับ “ฉางอาน” ตั้งฐานผลิตรถ EV ลุ้นสิ้นปีขายที่ดินนิวไฮ 2,750 ไร่

HoonSmart.com>>บริษัทในเครือ “ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป” (WHA) เซ็นซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับ ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย หนึ่งในผู้นำยานยนต์ชั้นนำของจีน 250 ไร่ สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) มูลค่าเฉียด 9,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,000 ตำแหน่ง คาดผลิตรถในไทยไตรมาส 1/68 “จรีพร”ลั่นปีนี้ทุบสถิติยอดขายสูงสุดครั้งใหม่ ลุ้นเกิน 2,750 ไร่ ต้นปีหน้าปิดดีลลูกค้ารายใหญ่อีก 600 ไร่ รอผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ตัดสินใจ หากสรุปดีลขายอีกหลายร้อยไร่  

น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า ใช้เวลาในการเจรจาซื้อ-ขายที่ดิน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ร่วม 3 ปี ขอบคุณที่ให้ความเชื่อมั่นและเลือกดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ในประเทศไทย การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย

“ปีนี้เราได้ทำสถิติยอดขายสูงสุดใหม่ไปแล้ว และได้เพิ่มเป้าหมายขึ้นมาอีก 1,000 ไร่ จากเดิม 1,750 ไร่ ซึ่งกำลังลุ้นอยู่ว่าปีนี้จะสามารถทำยอดขายที่ดินได้เกิน 2,750 ไร่ โดยในต้นปีหน้าจะมีการปิดดีลใหญ่ประมาณ 600 ไร่ และอีกรายก็หลายร้อยไร่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะย้ายการผลิตมาไทยหรือไม่ซึ่งจะรู้คำตอบในต้นปีหน้า”น.ส.จรีพร กล่าว

น.ส.จรีพร กล่าวว่า เหตุผลที่นักลงทุนต่างชาติเลือกมาตั้งฐานการผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล่าสุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตและการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลาง (Unified Operation Center หรือ UOC) ที่สำนักงานใหญ่ ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth

ทั้งนี้การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านดอลล่าร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คันต่อปี

“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย ที่มีต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่ครบวงจรพร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero Greenhouse Gas by 2050)” คุณจรีพรกล่าวทิ้งท้าย

นายเซิน ซิงหัว (Mr. Shen Xinghua) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย และกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในเดือนพ.ย.นี้ จะมีการวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า(EV) พร้อมกับจะเริ่มทำการเปิดตัวแบรนด์ในไทย และปลายเดือนพ.ย.จะมีการเปิดตัวรถยนต์ในการมอเตอร์ เอ็กซ์โป ส่วนปี 2567 จะมีการจัดตั้งศูนย์บริการ 40 แห่ง และเพิ่มเป็น 60 แห่งในอนาคต โดยจะใช้เงินลงทุนในเฟสแรก 8,862 ล้านบาท เพื่อทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา 100,000 คัน ทั้งประเภท BEV,PHEV,REEV (Range Extended EV)สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟฟริกาใต้ คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2568 โดยจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,000 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ มีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะ 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับทางรัฐบาลไทย โดยในส่วนของงานวิจัยด้านสมาร์ทเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถยนต์สามารถที่จะนำมาเผยแพร่ให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยได้ ซึ่งปัจจุบันฉางอาน มีศูนย์วิจัยและพัฒนา 10 แห่งใน 6 ประเทศ ประกอบด้วย ในจีน อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน มีวิศวกรและนักวิจัยร่วม 17,000 คน

“สำหรับในไทย ฉางอาน จะมี 3 บริษัท คือ บริษัทที่ดูแลด้านการจำหน่าย บริษัทที่ดูแลด้านการส่งมอบรถยนต์ และ บริษัทที่ทำการขนส่งรถยนต์ ส่วนโรงงานผลิตในประเทศ จะทำการผลิตชิ้นส่วน ผลิตตัวถัง การพ่นสี งานประกอบชิ้นส่วน จะอยู่ในพื้นที่ 240 ไร่ สำหรับงานผลิตในเฟสแรก 100,000 คัน รวมถึงการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งในเบื้องต้นจะร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีการผลิตแบตเตอรี่ในไทยอยู่แล้ว ส่วนเฟส 2 จะมีการผลิต 200,000 คัน ยังไม่ได้กำหนดวงเงินลงทุนไว้ว่าจะเป็นเท่าไหร่”นายเซิน กล่าว

นายเซิน กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นฐานที่ตั้งในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าครั้งนี้ เพราะนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 อยู่ภายใต้การสนับสนุนจากบีโอไอด้านภาษี และมีทำเลที่ตั้งเหมาะสม ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง และมีบทบาทในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซี รวมถึงไว้วางใจในชื่อเสียงของดับบลิวเะอชเอ กรุ๊ป

น.ส.จาง เซียว เซียว (Ms. Zhang Xiaoxiao) อัครราชทูตจีน ประจำแผนกพาณิชย์ สถานทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 นี้ นักลงทุนชาวจีนมีการเข้ามาลงทุนทางตรง (FDI) ในประเทศไทยมูลค่ากว่า 61,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของการลงทุนทางตรงทั้งหมดในไทย ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนสิทธิพิเศษต่างๆ ของรัฐบาลไทย โดยบริษัทฉางอาน ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก แต่อาจจะเป็นผู้มาใหม่ในตลาดไทย ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาพลังงานสีเขียวร่วมกับสังคมไทยตามนโยบายของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนที่จะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อความยั่งยืนในอนาคต