“SCGP”เปิดกำไรQ3/66 ลด 28% คาดQ4ฟื้นตัว-กำลังการบริโภคหนุน

HoonSmart.com>>เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)เปิดผลงานไตรมาส 3/66 มีกำไร 1,325 ล้านบาท ลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายผลิตภัณฑ์เยื่อที่ลดลง และค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาเครื่องจักรประจำปี ด้านอัตรากำไรสุทธิ 4% คาดว่าไตรมาส 4 ถึงปี 67 ฟื้นตัว เศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคในประเทศขับเคลื่อนหลัก ยอมรับปีนี้รายได้ขายพลาดเป้าไม่ถึง  160,000 ล้านบาท

บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2556 ว่า มีรายได้จากการขายรวม 31,572 ล้านบาท ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีสาเหตุหลักจากราคาขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ลดลง โดยเฉพาะจากกลุ่มกระดาษบรรจุภัณฑ์ในประเทศอินโดนีเซีย ท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศจีนและยุโรปที่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยมีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนน้อยลงและการแข่งขันด้านราคาในประเทศที่รุนแรง ในขณะที่ภาคการส่งออกจากภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ทำการหยุดเครื่องจักรเพื่อบำรุงรักษาประจำปีสำหรับสายการผลิตเยื่อในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา

ขณะที่ EBITDA เท่ากับ 4,229 ล้านบาท ลดลง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมี EBITDA Margin อยู่ที่ 13% กำไรสำหรับงวดเท่ากับ 1,325 ล้านบาท ลดลง 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 4% สาเหตุหลักจากปริมาณและราคาขายของผลิตภัณฑ์เยื่อที่ลดลง และผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเครื่องจักรประจำปี

ขณะที่กำไรสำหรับงวดจากกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรยังปรับตัวได้ดีขึ้น จากการผลักดันยอดขายในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค เช่น อาหารและเครื่องดื่ม พร้อมกับความพยายามในการลดต้นทุนและการปฏิบัติการที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศของทุกภาคส่วนในบริษัท

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 4,029.54 ล้านบาท ลดลง 24.69%

SCGP ระบุว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 จนถึงปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวต่อเนื่องโดยการบริโภคในประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ความต้องการบรรจุภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แม้ว่าในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ชะลอตัวชั่วคราวของการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีเป็นต้นไป เช่นเดียวกันกับการบริโภคในประเทศที่มีโอกาสขยายตัวโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่ภาคการส่งออกของโลกเริ่มมีการฟื้นตัวเช่นกันหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวและลดลงตามลำดับ

สำหรับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระดาษในภูมิภาคนั้น ปัญหาอุปทานส่วนเกินหลังจากการเปิดประเทศคลี่คลายช้ากว่าที่คาดการณ์โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม Utilization rate ของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ความต้องการของกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นเพื่อเป็นการตอบสนองและเตรียมความพร้อมต่อความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทฯมุ่งเดินหน้าสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยกลยุทธ์การขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร (Merger and Partnership: M&P) และการขยายกำลังการผลิต (Organic Expansion)เพื่อพัฒนาโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์จากการวิจัยและพัฒนา (RD&I)

สำหรับปัจจัยทางด้านต้นทุน SCGP มีการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความระมัดระวัง ผ่านการกระจายแหล่งนำเข้าวัตถุดิบที่หลากหลายจากทั่วโลกเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาแหล่งวัตถุดิบในระยะยาว รวมถึงเสริมความแข็งแกร่งของความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านโซลูชันบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน

บริษัทฯยังคงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไรผ่านการปฏิบัติงานที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (OperationalExcellence) การผสานความร่วมมือและเสริมคุณค่าทางธุรกิจ (Synergy) โดยการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูก (Fiber Packaging) และบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับความสามารถของบริษัทในการนำเสนอบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรที่มีคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้โครงการขยายและย้ายโรงงานธุรกิจรีไซเคิลจากเมืองดอร์เดรชท์ไปใกล้ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ของ Peute จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่ง และเพิ่มความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล และพลาสติกรีไซเคิลอีกเท่าตัว ในขณะเดียวกันโครงการนี้จะช่วยพัฒนาและยกระดับการส่งมอบวัตถุดิบรีไซเคิลของบริษัทฯให้กับลูกค้าทั่วโลกได้อย่างมีนัยสำคัญควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างมีคุณภาพ

บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามกรอบแนวคิด ESG โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำและสร้างความเป็นเลิศด้าน ESG ในการดำเนินงานของทั้งห่วงโซ่อุปทานซึ่งรวมถึงความพยายามในการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก ภายใต้เป้าหมายระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2593

ด้านนายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP)  กล่าวว่า รายได้จากการขายทั้งปี 2566 อาจทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 160,000 ล้านบาท หลังจากงวด 9 เดือนทำรายได้เพียง 97,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ไม่ปกติ  แต่เชื่อว่าในปี 2567 รายได้น่าจะดีกว่าปี 2566 ธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะได้รับปัจจัยบวกจากการเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งจะกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและดีมานด์บรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

“SCGP ได้เดินหน้าตามกลยุทธ์ขยายกำลังการผลิตและการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง เพื่อรักษาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โครงการเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์แบบอ่อนตัว (Flexible Packaging) ในประเทศไทย เริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 3/66 ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษในประเทศไทย คาดว่าจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2567 สำหรับธุรกิจรีไซเคิลวัสดุบรรจุภัณฑ์ Peute (เพอเธ่) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เตรียมเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเดือน พ.ย.66 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถจัดหากระดาษและพลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว สำหรับการลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนาม คาดว่าดีลจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 4/2566  หรือภายในเดือน พ.ย.นี้”นายวิชาญกล่าว