นายกฯ ปลื้ม 4 ข้อเสนอ ESG เผย 100 บ.ร่วมลงทุน1.6 ลล.บาท

HoonSmart.com>>นายกฯ ปลื้ม 4 ข้อเสนอจากการระดมสมองภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เร่งเปลี่ยนประเทศไทย สู่สังคมคาร์บอนต่ำ ยกสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ขยายผลทั่วไทย เตรียมบรรจุเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นวาระแห่งชาติ เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยืนยันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจสีเขียวด้วยการออกมาตรการทางการเงิน 4.5 แสนล้านบาท รองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ ดึงดูดนักลงทุน ด้านเอกชนตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 100 บริษัท รวมมูลค่าการลงทุนร่วม 1.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573 ในงาน ESG Symposium 2023

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน ESG Symposium 2023 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ในหัวข้อ “ร่วม เร่ง เปลี่ยน
สู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ว่า ขอชื่นชมทุกภาคส่วนที่ร่วมกันระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาคม ในการช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งภาวะโลกร้อนนำไปสู่ปัญหาทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปถึงระดับมหภาค หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันตามกลยุทธ์ ESG (Environmental, Social, and Governance) ที่เน้นสร้างเศรษฐกิจควบคู่กับสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใสมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะช่วยกู้โลกให้กลับมาดีขึ้น ตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2566 ของสหประชาชาติ (SDGs)กำหนดให้เป็นทศวรรษแห่งการลงมือทำ เพราะรอช้าอีกต่อไปไม่ได้แล้ว

สำหรับ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดสรรแหล่งทรัพยากร และเงินทุน มีแผนที่จะลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว และ Thailand  Green Taxonomy มูลค่า 4.5 แสนล้านบาท ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ได้ตอบรับเข้าร่วมโครงการลงทุนในธุรกิจสีเขียวกว่า 100 บริษัท เป็นมูลค่าการลงทุนร่วม 1.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2573

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เห็นผลชัดเจน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งมั่นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่รากหญ้า ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ผลักดันการใช้พลังงานสะอาดราคาที่เหมาะสมในปี 2073

“การเลือกจังหวัดสระบุรีเป็นเมืองต้นแบบในการลดคาร์บอนต่ำ หรือ“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ถือเป็นโจทย์ยากเพราะสระบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนมาก เช่น โรงงานปูนซิเมนต์ จึงขอให้ทำสำเร็จจะได้นำไปใช้ในเมืองและอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมมือกันหลายส่วน ทั้งมาตรการและเงินทุน”นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวว่า จะผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติใน 3 อุตสาหกรรมนำร่อง คือ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้าง ตามแผนที่เสนอ ซึ่งรัฐบาลจะขยายผลความสำเร็จนี้ โดยรัฐจะให้ความสำคัญกับการจัดการขยะด้วยการกำหนดนโยบายจัดการขยะ และเปิดให้จัดหาสินค้ากรีน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ หรือ Eco -system ที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้เต็มประสิทธิภาพและศึกษาการเปิดให้สามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ความรู้และเทคโนโลยี พร้อมทั้งรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเพื่อดึงดูดนักลงทุนและบริษัทต่างชาติในอนาคต

“ผมขอฝากให้ธุรกิจขนาดใหญ่เป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ โดยเห็นประโยชน์ของประเทศและโลกเป็นสำคัญ โดยข้อเสนอต่างๆ ในวันนี้ผมจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาในไทยให้มากขึ้นในอนาคต”นายเศรษฐา กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแสดงความเห็นข้างต้นหลังจากรับฟัง 4 ข้อเสนอโดย นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCG) “ร่วม เร่ง เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่มาจากการระดมสมอง ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมกว่า 500 คน ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่
1) ร่วมสร้าง “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว เกษตรยั่งยืนท่องเที่ยวเชิงนิเวศเนื่องจากสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีความซับซ้อนและท้าทายมากเพราะมีระบบเศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมหนัก การเกษตร การท่องเที่ยวและความเป็นเมืองที่ผสมผสานจึงสามารถเป็นตัวแทนเสมือนของประเทศไทยได้เพื่อศึกษาเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จและข้อจำกัดต่าง ๆในการเปลี่ยนสู่เมืองคาร์บอนต่ำ
ซึ่งร่วมบูรณาการโดยผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงและภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบ หากประสบความสำเร็จจะเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ ได้

ปัจจุบันมีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้ว อาทิ การกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำในทุกงานก่อสร้างในจังหวัดสระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดการใช้น้ำการปลูกพืชพลังงาน หญ้าเนเปียร์และนำของเหลือจากการเกษตรไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนสร้างรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งร่วมปลูกป่าชุมชน 38 แห่งทั่วจังหวัดช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศสร้างรายได้ให้ชุมชน

2) เร่งผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นวาระแห่งชาติเพราะเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ ในประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมที่ลงมือทำแล้วคืออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และก่อสร้างปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง คือกำหนดนโยบาย กฎหมาย มาตรฐาน
การคัดแยกและจัดเก็บขยะเป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศกำหนดตัวชี้วัดในการติดตามผล ตลอดจนสร้าง Eco-system สนับสนุนสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งรณรงค์ใช้สินค้ากรีนที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพออกกฎหมายระบุปริมาณอย่างชัดเจนโดยหน่วยงานภาครัฐนำร่องจัดซื้อจัดหาสินค้ากรีนเพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแพร่หลาย

3) เปลี่ยนสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน ปลดล็อกข้อจำกัด โดยเปิดเสรีซื้อ-ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดด้วยระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid
Modernization) เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนใช้เครือข่ายไฟฟ้าร่วมกันให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดสะดวกยิ่งขึ้นสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสะอาดและใช้พื้นที่ว่างเปล่ากักเก็บพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานความร้อน พลังงานกล พลังงานเคมี รวมทั้งพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ๆ และผลักดันให้อยู่ในแผนพลังงานชาติ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พืชพลังงาน ขยะจากชุมชน ของเสียจากโรงงานตลอดจนปรับปรุงนโยบายและให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการใช้พลังงานสะอาด และส่งเสริมการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง

4) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น SMEs แรงงาน เกษตรกร และชุมชนโดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและจัดสรรความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมเพื่อให้ตระหนักรู้เข้าถึงเทคโนโลยีลดคาร์บอนและแหล่งเงินทุนสิ่งแวดล้อมทั่วโลกซึ่งมีอยู่มากถึง 52 ล้านล้านบาท
และขอเสนอให้ไทยควรร่วมเร่งเข้าถึงกองทุนดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กองทุนนวัตกรรมจัดการน้ำให้กลุ่มเกษตรกรรับมือสภาพภูมิอากาศแปรปรวนกองทุนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าพร้อมสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ ยังควรพัฒนาทักษะแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านให้มีความพร้อมปรับตัวทันท่วงทีและพึ่งพาตัวเองได้