BBL นำขึ้นดอกเบี้ยฝาก-กู้ แบงก์อ้วน คาด Q3 ฟันกำไร 5.1 หมื่นล.

HoonSmart.com>>ธนาคารกรุงเทพ (BBL) นำขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.10-0.25% เงินกู้ 0.25% เริ่ม 29 ก.ย.หนุนหุ้นแบงก์ บล.กรุงศรี คาด 7 ธนาคารที่ศึกษาไตรมาส 3/66 มีกำไรสุทธิ 5.14 หมื่นล้านบาท โต 15% จากระยะเดียวกันปีก่อน กินส่วนต่างดอกเบี้ยเพิ่ม (NIM) เผย BBL, KTB ,TTB  เก่ง บล.เมย์แบงก์ คาดกลุ่มโกยกำไร 4.87 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% คาด SCB-KKP ฝีมือตก บล.หยวนต้าแนะสะสม KBANK ด้านดัชนีหุ้นร่วงแรง 1% แต่ดีกว่าญี่ปุ่น-ฮ่องกง ต่างชาติขาย 2,700 ล้านบาท เจอน้ำมันพุ่งกดดันเงินเฟ้อ บอนด์ยีลด์พุ่ง ดันดอกเบี้ยสูงอีกนาน 

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยตามการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2566

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้น 0.10-0.25% สำหรับบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสะสมทรัพย์สูงสุด 0.55% ต่อปี เงินฝากประจำ 3 เดือน เป็น 1.20% ต่อปี เงินฝากประจำ 6 เดือน เป็น 1.25% ต่อปี เงินฝากประจำ 12 เดือน เป็น 1.60% ต่อปี เงินฝากประจำ 24 เดือน เป็น 2.00% ต่อปี และเงินฝากประจำ 36 เดือน เป็น 2.10% ต่อปี เงินฝากสะสมทรัพย์ e-Saving วงเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็น 1.50% ต่อปี และวงเงินฝากส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท เป็น 0.65% ต่อปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับขึ้น 0.25% สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR)  เป็น 7.10% ต่อปี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR)  เป็น 7.55% ต่อปี และดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เป็น 7.30% ต่อปี

บล.กรุงศรี พัฒนสิน คาดกลุ่มธนาคาร 7 แห่งที่ศึกษามีกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3/2566 อยู่ที่ 5.14 หมื่นล้านบาท +15% จากระยะเดียวกันปีก่อน (YoY) เพราะการเพิ่มขึ้นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จากการเพิ่มขึ้นของ yield on loan ส่วนกำไรคาดลดลง -1% เทียบกับไตรมาสที่ 2 (QoQ) เพราะการลดลงของเงินลงทุนค่าธรรมเนียม-บริการ และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำรอง (ECL)

“ธนาคารที่มีกำไรเด่นเติบโตทั้ง YoY และ QoQ คือ BBL, KTB และ TTB หุ้นเด่นเลือก BBL, KTB”บล.กรุงศรีระบุ

ด้านบล.เมย์แบงก์ยังคงแนะนำซื้อ BBL และ KTB เป็น Top Picks เนื่องจากมี NIM ที่สูงกว่าและคุณภาพสินทรัพย์ที่มั่นคง ประเมิน NIM ทั้งกลุ่มเติบโต QoQ ในไตรมาส 3/66 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนจากสินเชื่อและการลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูงขึ้น โดยประเมินกำไรของกลุ่ม อยู่ที่ 4.87 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% YoY เนื่องจาก NII ที่สูงขึ้น แต่ลดลง 7% QoQ เนื่องจาก non-NII ที่ลดลงและ opex ที่สูงขึ้น โดยรวมแล้ว PPoP มีแนวโน้มเติบโต 14% YoY หนุนโดย NIM ที่เติบโตขึ้น ซึ่งชดเชยสินเชื่อที่เติบโตชะลอตัว นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้า ต้นทุนสินเชื่อที่สูงเป็นเวลานานมีแนวโน้มที่จะกดดันกำไรของธนาคารใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า ส่วนกำไรไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มลดลง QoQ เนื่องจาก opex ที่สูงขึ้น (ผลกระทบตามฤดูกาล)

BBL และ TTB มีแนวโน้มรายงานกำไรต่อหุ้นไตรมาสที่ 3 เติบโตดีที่ 38% และ 26% YoY ตามลำดับเนื่องจากการเติบโตของ NII ที่แข็งแกร่งและต้นทุนสินเชื่อที่ลดลง ขณะที่  KKP กำไรจะลดลง 34% YoY เนื่องจาก NIM ลดลงและผลขาดทุนจากการขายรถยนต์ยึดที่สูงขึ้น ส่วน SCB มีแนวโน้มที่จะรายงานกำไรที่หดตัว YoY และ QoQ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการตั้งสำรองที่สูงขึ้น

“เราคาดว่า BBLจะมีโมเมนตัมกำไรเชิงบวกมากที่สุด เนื่องจากได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25%  เหลือ 0.35% ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง สำหรับปี 2566 BBL น่าจะกำไรเติบโตสูงสุดที่ 33% YoY ตามมาด้วย TTB (+29%) ส่วนแนวโน้มปี 2567 กำไรของกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มที่จะเติบโตในอัตราที่ช้าลงที่ 8% เนื่องจากอานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นลดลง”บล.กรุงศรีระบุ

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) แนะนำสะสมหุ้น KBANK ให้แนวต้านทางเทคนิค 127  บาทคาดว่ากลุ่มธนาคารจะตอบรับเชิงบวก จากการขึ้นดอกเบี้ยของกนง.จะส่งผล
ให้ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นบวกต่อ  NIM  และในเดือน ต.ค. เข้าสู่เทศกาลเปิดเผยกำไร (Earnings Season )และกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มแรกที่รายงานงบ คาดกำไรไตรมาสที่ 3 เติบโต YoY นอกจากนี้มาตรการลดค่าครองชีพ ทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าจะส่งผลบวกให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และความมั่นใจของภาคธุรกิจเป็นบวกต่อยอดสินเชื่อของกลุ่มธนาคารในช่วงทีเหลือของปี ซึ่งโดยปกติไตรมาสที่ 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของความต้องการใช้สินเชื่อ
และคาดว่าจะเป็นเป้าหมายในการซื้อคืนของหากกระแสเงินทุนต่างชาติกลับตัวเข้ามา

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงท้ายตลาดเจอแรงขายออกมามากในหุ้นขนาดใหญ่ เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย และตลาดในยุโรป ต่างปรับตัวลงกัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นฮ่องกง และญี่ปุ่น ที่ปรับตัวลงแรง คาดว่าจะมาจากความกังวลราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปด้วย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ก็ยังอยู่ในระดับสูง ตรงนี้เป็นปัจจัยหลักที่มากดดันตลาด พร้อมให้ติดตามตัวเลข Core PCE ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้

นายชัยยศ จิวางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี กล่าวว่า ภาพรวมตลาดยังพักตัว จากความกังวลดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยืนในระดับสูง พร้อมให้ติดตามถ้อยแถลงประธานเฟดคืนนี้

แนวโน้มการลงทุนในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ย.) ตลาดคงจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ โดยมีแนวรับ 1,475-1,480 จุด ส่วนแนวต้าน 1,490-1,495 จุด