SCGP ลั่นกำไรครึ่งปีหลังโตต่อ M&P1 ดีล ชูนวัตกรรมไม้ยูคาฯรายแรกโลก

HoonSmart.com>>”เอสซีจี แพคเกจจิ้ง” (SCGP) แกร่ง กวาดกำไรไตรมาส 2 ปีนี้ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  22% จากไตรมาสก่อน มั่นใจครึ่งปีหลังเติบโตต่อเนื่อง มั่นใจทั้งปีโกยรายได้ 1.6 แสนล้านบาท  เน้นกลยุทธ์ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ศักยภาพบริหารต้นทุน ขยายธุรกิจในอาเซียน คาด M&P 1 ดีล  ปีนี้ใช้งบลงทุน 1.8 หมื่นล้านบาท  ทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมและโซลูชัน ร่วมกับออริจิ้น แมตทีเรียลส์ พัฒนา Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับโรงงานแรกของโลก หนุนธุรกิจ-สิ่งแวดล้อมยั่งยืน

นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2566 มีกำไรสุทธิ 1,485 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาสก่อน EBITDA 4,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  5% และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 5%  แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังไม่ควรต่ำกว่าครึ่งปีหลังของปีที่แล้ว และครึ่งแรกปีนี้ จากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียนคาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะยังคงใช้โมเดลการเติบโตจากธุรกิจหลักและผ่านการควบรวมกิจการ (Merger & Partnership) คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะจบได้ 1 ดีล  ซึ่งในแต่ละปีจะมี 2-3 ดีล

นอกจากนี้ยังมีการวางกลยุทธ์บริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง เสริมแกร่งระหว่างธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ การรวมคำสั่งซื้อวัตถุดิบและจองระวางเรือขนส่งสินค้า และเพิ่มการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Cross-Selling) นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากต้นทุนลดลงจากราคาพลังงานและค่าระวางเรือขนส่งสินค้า ส่วนวัตถุดิบกระดาษรีไซเคิล (RCP) มีแนวโน้มทรงตัว ตลอดถึงการปรับสัดส่วนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด โดยเพิ่มการผลิตเยื่อเคมีละลายน้ำได้ (Dissolving Pulp) ซึ่งมีราคาขายที่ดี เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้น

สำหรับเป้าหมายในปีนี้จะยังคงมีรายได้รวม 1.6 แสนล้านบาท เห็นยอดขายครึ่งปีแรกแล้ว คาดครึ่งปีหลังไม่ต่ำกว่า แม้ไตรมาสที่ 2 มีรายได้จากการขาย 32,216 ล้านบาท ชะลอตัว 4%จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาขายลดลง และยอดขายของสายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจรที่ปรับลดลง  ปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของตลาดอินโดนีเซียซึ่งมีวันหยุดราชการยาว  ขณะที่ภาพรวมความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในภูมิภาคอาเซียนฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์อาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง และบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออกผลไม้ยังประเทศจีนปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการขายกระดาษพิมพ์เขียนเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดภาคการศึกษาและการเลือกตั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังผันผวน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง ทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัว

“SCGP มีงบดุลและโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งสำหรับการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันได้ใช้เงินลงทุนเพียง 3,200 ล้านบาท จากปี 2566 ตั้งไว้ไว้รวม 18,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบควบรวมกิจการประมาณ 9,000 ล้านบาท  เพื่อรองรับความเป็นไปได้ในการลงทุนซื้อหุ้นใน PT Fajar Surya Wisesa Tbk. (Fajar) ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทฯ บันทึกบัญชีรายการในงบดุลคิดเป็นมูลค่ารวม 23,204 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2/ 2566  ซื้อจากผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มเติม  44.48%คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณกลางปี 2567 นอกจากนี้ได้เตรียมเข้าลงทุนใน Starprint Vietnam JSC (SPV) ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปลายไตรมาสที่ 3  เพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศเวียดนาม” นายวิชาญกล่าว

ขณะเดียวกัน SCGP ได้ทุ่มเทในการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค โดยอยู่ระหว่างร่วมกับออริจิ้น แมตทีเรียลส์ (Origin Materials) ในการพัฒนา Bio-based Plastic จากชิ้นไม้ยูคาลิปตัสสับ ซึ่งผลทดสอบล่าสุดได้ผ่านขั้นตอนการทดสอบในห้องแล็ปและการปรับคุณสมบัติที่เหมาะสมเรียบร้อยแล้วผลเป็นที่น่าพอใจ พร้อมเข้าสู่ขั้นตอน Pilot Plant Scale โรงงานแห่งแรกใช้ไม้จำนวน 2.5 หมื่นตัน จะตั้งโรงงานที่ 2 ในสหรัฐ ใช้ไม้ 1 ล้านตัน   คาดไตรมาส1/2567 จะสรุปเรื่องพันธมิตรและการลงทุน

นอกจากนี้ SCGP ยังได้ทำการวิจัยและพัฒนา Wooden Foodservice Packaging จากไม้ยูคาลิปตัส เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรทดแทน ตอบโจทย์เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์อาหารรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ และเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในอาเซียน และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตั้งแต่ต้นทางการปลูกจนถึงการแปรรูปไม้ยูคาลิปตัส ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

“โรงงานนี้จะใช้ยูคาลิปตัส เป็นรายแรกของโลก ยังไม่มีใครทำ ประสิทธิภาพดีกว่า เพราะการปลูกสั้นกว่า 4-5 ปี  ทำให้ต้นทุนต่ำ และการลดขยะให้เหลือศูนย์ (zero waste ) ทำบรรจุภัณฑ์ ย่อยสลายได้”นายวิชาญกล่าว

SCGP ยังคงมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวคิด ESG 4 Plus ทำให้บริษัทฯ เป็นที่ยอมรับและล่าสุด Sustainalytic ยังได้ประเมินอันดับ ESG Risk Ratings ของ SCGP ให้อยู่ในระดับ Low Risk ของกลุ่มอุตสาหกรรม Container & Packaging

ด้านคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2566 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งสิ้น 1,073 ล้านบาท  ขึ้น เครื่องหมาย XD ในวันที่ 8 ส.ค. 2566 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) วันที่ 9 ส.ค. 2566 กำหนดจ่ายเงินในวันที่ 22 ส.ค. 2566
จ่ายเงินปันผล 22 ส.ค.2566

สำหรับการซื้อขายหุ้น SCPG ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง รับกำไรไตรมาส 2 เติบโตจากไตรมาสแรกโดยเฉพาะภาคบ่าย ราคาหุ้นกระโดดขึ้น  ปิดที่ระดับ 40 บาท บวก 1.50  บาทหรือ +3.90% มูลค่าการซื้อขายสูงถึง 598 ล้านบาท