CIMBT กำไร 539 ล้าน Q2 วูบ 49% ครึ่งปีร่วง 35% สำรองหนี้พุ่ง

HoonSmart.com>> “ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย” (CIMBT) เปิดงบไตรมาส 2/66 กำไร 539 ล้านบาท ลดลง 48.9% ฉุดครึ่งปีแรกกำไรเหลือ 1,369 ล้านบาท ลดลง 35.3% ค่าใช้จ่ายการดำนินงานและสำรองพุ่ง 94.2% สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น สินเชื่อขยายตัว หนี้เสียลดลง

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 538.75 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.02 บาท ลดลง 48.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 1,054.46 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.03 บาท

ส่วนงวด 6 เดือนปี 2566 กำไรสุทธิ 1,368.88 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.04 บาท ลดลง 35.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,115.50 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.06 บาท

กลุ่มธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกจำนวน 7,156.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท หรือ 0.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 4.6% และรายได้อื่น 1.3% สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 21.7% กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 7.3% เป็นจำนวน 3,105.6 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 0.7% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 7.9% ทำให้กำไรสุทธิลดลง 746.6 ล้านบาท หรือ 35.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 94.2% โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในงวด 6 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 214.4 ล้านบาท หรือ 4.6% จากการขยายตัวของสินเชื่อ รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 20.5 ล้านบาท หรือ 1.3%ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 183.9 ล้านบาท หรือ 21.7% มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 297 ล้านบาท หรือ 7.9% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทัรพย์สินรอการขาย ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 56.6% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 52.8%

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) อยู่ที่ 2.7% ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.8% เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากเพิ่มขึ้น

ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 242.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากสิ้นปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 83.8% จาก 81.2% ณ สิ้นปี 2565

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 3.1% ลดลงจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 3.3% สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารด้วยการลดลงของสินเชื่อพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อและนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางพิ่มประสิทธิภาพติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกลเชิด

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ที่ 122.1% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 115.6% ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท