กล่าวโทษ 3 อดีตผู้บริหาร STARK สะพัดเพิ่มทุน! ดันหุ้นซิลลิ่ง

HoonSmart.com>>”สตาร์คฯ (STARK)”กล่าวโทษ 3 อดีตผู้บริหารต่อดีเอสไอ  แจงเหตุหยุดจ่ายดอกเบี้ย 2 หุ้นกู้ เงินไม่ถึง 30 ล้านบาท จนทริสฯหั่นเรทติ้งเป็น D ภาระหนี้ก้อนโตอยู่ระหว่างเจรจา ด้านราคาหุ้น 2 มิ.ย. ดีดกลับชนซิลลิง หึ่ง!เพิ่มทุนราคาต่ำ มีอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาช่วย แนะทางการกระโดดเข้าแก้ไข STARK พ่นพิษวงกว้าง ผู้ถือหุ้น-หุ้นกู้-ผู้ถือหน่วยลงทุนกองลดหย่อนภาษี บลจ.วรรณ-กรุงไทยยืนยันชิงขายหุ้นไปหมดแล้ว บลจ.บัวหลวงเผย 4 กองทุนลงทุนเพียง 0.4-0.6% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ กระทบไม่มาก กระจายลงหุ้นมากกว่า 70 ตัว จับตาผู้บริหารบลจ.ถูกสอบซื้อหุ้น STARK

แหล่งข่าวจากบริษัทสตาร์ค คอร์เปอเรชัน (STARK) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางบริษัทฯได้ไปยื่นคำร้องทุกข์ คำกล่าวโทษในคดีอาญา อดีตผู้บริหารสตาร์คฯจำนวน 3 คน ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จากการทำ Special Audit งบการเงินปี 2565 ตรวจพบธุรกรรมที่อาจมีความผิดปกติ ซึ่งเข้าข่ายการกระทำทุจริต

ส่วนการตัดสินใจหยุดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้รุ่น STARK239A และ STARK249A มูลค่าประมาณ 28-29 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและบริษัททริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กร STARK ลงสู่ระดับ “D” เพราะบริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไรก็ผิดนัด หลังจากผู้ถือหุ้นกู้ทั้งสองรุ่นมีมติไม่ยกเว้นเหตุผิดนัด  เรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระโดยพลัน  ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ค.บริษัทได้จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวน 67 ล้านบาทไปแล้ว ส่วนภาระหนี้ที่จะต้องชำระทั้งหมด ยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด สำหรับธุรกิจทั้งในไทยและเวียดนาม ปัจจุบันยังคงดำเนินไปตามปกติ

ด้านราคาหุ้น STARK เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566 ผันผวนสูง ระหว่างวันปรับตัวลงต่ำสุดแตะ 0.14 บาท ก่อนดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว ชนซิลลิ่งที่ 0.23 บาท และปิดที่ระดับ 0.22 บาท พุ่งขึ้น 0.04 บาทหรือ +22.22% มูลค่าซื้อขายรวม 439 ล้านบาท เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าบริษัทฯจะเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 0.20 บาท โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาช่วยเหลือ แต่ข่าวนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันจากบริษัท

แหล่งข่าวยอมรับว่า กรณีของ STARK ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและรุนแรงกว่าการปั่นหุ้น MORE  เพราะบริษัทสตาร์ทฯมีขนาดใหญ่กว่า  ปัจจัยพื้นฐานดีและหุ้นกู้ได้รับการจัดเรทติ้ง BB+ ดึงดูดให้นักลงทุนทั้งรายบุคคลและสถาบันเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน จำนวน 12 ราย  เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ส่วนใหญ่ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 1,500 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3.72 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 5,580 ล้านบาท เมื่อราคาหุ้นทรุดลงแรงกว่า 90% ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยเฉพาะกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณอายุ  ไม่รวมผู้ถือหุ้นสามัญที่ลงทุนมในหุ้น STARK โดยตรงและผู้ถือหุ้นกู้ 5 รุ่น มูลค่ามากกว่า 9,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม บลจ.วรรณ ชี้แจงว่าปัจจุบันกองทุนของบลจ.วรรณไม่มีหุ้น STARK ในพอร์ตแล้ว หลังจากทยอยขายไปตั้งแต่ปลายปี 2565 ถึงต้นเดือนก.พ.2566 ส่วนหุ้นกู้ลงทุนเพียงรุ่นเดียว “STARK245A” สถานะยังปกติ และสัดส่วนเพียง 0.03% เมื่อเทียบกับ AUM ของบลจ.วรรณ

ด้านบลจ.กรุงไทย (KTAM)ยืนยันไม่เคยลงทุนในหุ้นกู้ STARK เนื่องจากไม่อยู่ใน Universe ตราสารหนี้ของ KTAM  ส่วนหุ้นได้ลดสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่ตั้งแต่ปลายปี 2565 และไม่มีการลงทุนนับตั้งแต่กลางเดือนก.พ.2566 ส่วนวอร์แรนต์มีสัดส่วนที่ไม่มีนัยสำคัญ (ซึ่งเป็นการได้มาตามสิทธิในอดีตโดยไม่มีต้นทุน)

ขณะที่บลจ.บัวหลวงเผยมี 4 กองทุนที่ลงทุนในหุ้น STARK  ณ วันที่ 31 พ.ค.2566 ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงทุนหุ้น STARK  สัดส่วน 0.6% ของขนาดกองทุนอยู่ที่ 12,441.16 ล้านบาท และมีการกระจายการลงทุนใน 76 หลักทรัพย์ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว มีสัดส่วนลงทุน 0.6% ของขนาดกองทุน 45,057.31 ล้านบาท  กระจายลงทุน 72 หลักทรัพย์ กองทุนเปิดบัวหวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ มีสัดส่วน 0.5% ของขนาดกองทุนที่ 21,700.67 ล้านบาท  กระจายลงทุน 73 หลักทรัพย์และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 มีสัดส่วนเพียง 0.4% ของขนาดกองทุน 24,909.68 ล้านบาทมีการกระจายลงทุน 69 หลักทรัพย์

“บลจ.หลายแห่งให้ความสนใจลงทุนในหุ้น STARK  และได้รับความเสียหายมาก มีข่าวเรื่องผู้บริหารบลจ.มากกว่า 1 แห่ง ถูกตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องการตัดสินใจการลงทุนครั้งนี้”แหล่งข่าวกล่าว